รัฐบาลแตะเบรคก.ม.ดิจิตอล หลังองค์กรสื่อเข้าพบ’วิษณุ’ เผยจะเปิดให้องค์กรสื่อร่วมมีความเห็นในชั้นกฤษฎีกา และเพิ่มสัดส่วนในกมธ.ยอมรับพ.ร.บ.ไซเบอร์ต้องปรับแก้ไข
ที่ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล เมื่อเวลา 13.30น.วันที่ 6 ก.พ.2558 นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ได้ เชิญตัวแทนองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน อาทิ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ, สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ดูแแลเว็บไทย, สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต, สมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ ,กลุ่มอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ ฯกว่า 30 คน เข้าให้ข้อมูลและความคิดเห็นต่อร่างกฎหมาย 10 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลที่อยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา หลังมีผู้แสดงความกังวลต่อเนื้อหาของกฎหมายที่อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิส่วนบุคคลของเอกชนและการให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมากเกินไปและไม่มีการถ่วงดุล โดยใช้เวลานาน2 ชั่วโมงครึ่ง
ทั้งนี้ในที่ประชุมหารือ นายวิษณุ กล่าวกับคณะที่มาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องการรับฟังความเห็นของผู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการออกกฎหมายชุดใหญ่ 10 ฉบับ จึงให้เชิญเข้ามาให้ความเห็น เพราะมีเสียงเห็นว่าอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนหรือกระทบการทำงานของวงการต่างๆ บางเรื่องเป็นเรื่องที่รัฐบาลไม่เคยได้ยินมาก่อน จึงอยากฟังอย่างเป็นทางการและเป็นระบบ แทนที่จะเป็นจดหมายหรือการพบเป็นรายบุคคล เพราะพลเอกประยุทธ์เป็นห่วง และเคยปรารภว่าน่าจะมีการเชิญผู้เกี่ยวข้องมาพูดจา รัฐบาลคงไม่มีอะไรชี้แจงมาก แต่ต้องฟังก่อน เพราะสามารถปรับปรุงแก้ไขได้ เป็นธรรมดาของกฎหมาย เมื่อจะเร่งรัดเรื่องใด ก็อาจจะข้ามขั้นตอนบางอย่างไป หากมีข้อไม่สบายใจ ก็ต้องย้อน
กลับมาดำเนินการใหม่รองนายกฯ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม กฎหมายทั้ง 10 ฉบับ มีเรื่องที่สามารถดำเนินการได้เลย เช่น กฎหมายการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม ขณะที่เนื้อหาอื่นๆ เช่น กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และกฎหมายรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ เป็นกฎหมายที่ยากและมีผลกระทบค่อนข้างมาก และยังไม่ใช่เรื่องเร่งด่วนจึงถือไว้เป็นลำดับสุดท้ายของกฎหมายล็อตนี้ และจากที่ฟังความเห็นก็เรื่องใหญ่ 3 เรื่องคือถ้อยคำภาษาของกฎหมายที่เลี้ยวซ้ายหรือขวาก็ได้ เป็นปัญหาของกฎหมายที่ร่างกันขึ้นมาเป็นตุ๊กตา เพราะคนร่างมาอย่างหนึ่งคนอ่านก็เห็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งก็เห็นด้วยเมื่อได้ดูถ้อยคำและมาตราต่างๆ ของกฎหมาย ต่อมาเป็นความเป็นห่วงเรื่องความเป็นส่วนบุคคล ที่เสี่ยงต่อการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล โดยการปราศจากการถ่วงดุลย์หรือการคานอำนาจ หรือการให้อำนาจเจ้าหน้าที่มากเกินไป โดยปราศจากการเหนี่ยวรั้งนายวิษณุ กล่าวต่อไปว่า นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการก่อภาระอันไม่สมควรแแก่ผู้ให้บริการ ที่กฎหมายสมัยใหม่ต้องการจะลดขั้นตอนเหล่านี้ลงไป เรื่องทั้งหมดจะนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรี แต่คงไม่สามารถดึงกฎหมายกลับมาได้ เพราะอยู่ในขั้นตอนของกฤษฎีกา แม้จะสามารถทำได้ ต้องปล่อยให้กระบวนการดำเนินต่อไป ความจริงบรรยากาศแบบนี้ควรเกิดขึ้นตั้งแต่สามเดือนที่ผ่านมา แต่กระทรวงไอซีทีก็เริ่มต้นจากศูนย์ จึงต้องมีตุ๊กตาขึ้น ไม่เช่นนั้นก็ไม่รู้จะวิพากษ์วิจารณ์หรือให้ความเห็นตรงไหนได้ และจะประสานไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาให้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้เข้าให้ความเห็นในวันนี้ และในขั้นตอนของสภานิติบัญญัติแห่งชาติจะประสานไปให้เพิ่มสัดส่วนคณะกรรมาธิการมากกว่า 15 คน เพื่อให้องค์กรวิชาชีพสื่อและผู้ประกอบการเสนอผู้เป็นกรรมาธิการในสัดส่วนของรัฐบาลด้าน นายจักร์กฤษณ์ เพิ่มพูล ประธานสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลและกฎหมายรักษาความปลอดภัยไซเบอร์ เป็นกฎหมายสำคัญที่สุดของชุดนี้ เพราะได้ตัดข้อยกเว้นการคุ้มครองการรายงานข้อมูลส่วนบุคคลของสื่อมวลชนได้รับการยกเว้นและคุ้มครอง แต่กฎหมายนี้ได้ตัดข้อความออกไป ทำให้การรายงานและการทำข่าวของสื่อเชิงสืบสวนไม่สามารถทำได้อีกต่อไป และกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐเข้าถึงสิทธิส่วนบุคคล ให้อำนาจในฐานะพนักงานสอบสวนตาม ป.วิ.อาญา โดยไม่จำเป็นต้องขอหมายศาล โดยไม่มีเกณฑ์วัดว่าใช้ดุลพินิจอย่างไร แค่ไหน”เป็นกฎหมายที่มุ่งเน้นไปที่เรื่องความมั่นคงมากกว่าการส่งเสริมการค้าขายตามชื่อกฎหมายและการคุ้มครองบุคคล” นายจักร์กฤษณ์ กล่าว
ขณะที่นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ กล่าวว่า จุดที่น่าเป็นห่วงก็คืออำนาจหน้าที่ของเจ้าพนักงานแต่ละฉบับที่ให้อำนาจเข้าไปตรวจค้น เข้าถึงระบบข้อมูลของเอกชน โดยไม่มีกระบวนการกลั่นกรอง เนื้อหากฎหมายคล้ายคลึงกันเหมือนก็อบปี้กันมา เป็นการขยายอำนาจหน้าที่่ของเจ้าพนักงาน ที่เดิมจะต้องมีการขอหมายต่อศาล แต่ฉบับนี้ได้เพิ่มอำนาจไปยังฉบับอื่นๆ อีกด้วย และที่ผ่านมาพบว่าไม่ผ่านกระบวนการฝึกอบรมให้ความรู้อย่างเพียงพอในการบังคับใช้กฎหมายให้เจ้าหน้าที่ ที่เดิมจะต้องมีการอบรมสามเดือน แต่ความเป็นจริงกลับอบรมเพียงสามวันเท่านั้น เป็นการให้อำนาจเจ้าหน้าที่เกินขอบเขต ที่จะมีผลกระทบตามมาในอนาคต
“มีการเขียนคุ้มครองว่าการทำธุรกรรมร่วมกับเอกชน ไม่สามารถมาไล่เบี้ยเอาผิดสำนักงานธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์ได้ หากมีปัญหาตามมา หน่วยงานนี้จึงเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจมากกว่าหน่วยราชการอื่นๆ” นายชวรงค์กล่าว และว่า แทนที่ส่งเสริมเศรษฐกิจ แต่กลับจะกลายเป็นขัดขวาง เพราะรัฐเข้าไปแทรกแซงหรือเข้าถึงข้อมูลเอกชน
ส่วน นายไพบูลย์ อมรภิญโญเกียรติ ที่ปรึกษากฎหมายสมาคมผู้ผลิตสื่อออนไลน์ เสนอว่า โดยโครงสร้างถือเป็นหลักการที่ดี แต่เนื้อหาให้เจ้าหน้าที่เข้าถึงข้อมูลได้ทั้งกายภาพและเทคนิคหรือการเข้าแฮ็กฯข้อมูลได้เลย ทั้งๆ ที่ที่ผ่านมา กว่าจะได้ต้องขอต่อศาล เพราะอยู่ดีๆ เจ้าหน้าที่รัฐจะไปติดตามใครเลยไม่ได้ แม้แต่กฎหมายของดีเอสไอยังต้องให้อธิบดีศาลอาญาเป็นคนกลั่นกรองและมีกำหนดเงื่อนไขขั้นตอนไว้และมีกำหนดระยะเวลา และที่ผ่านมาก็พบว่าไม่มีการบังคับใช้กฏหมายที่มีอยู่ เช่นการให้คนลงทะเบียนตามอินเทอร์เน็ตคาเฟ่หากเข้าใช้บริการ แต่กลับมาออกกฎหมายที่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้
“เอกชนอยากเห็นมาตรการทางภาษีมากกว่า เพราะหากข้อมูลทางธุรกิจเขาถูกรัฐเข้าถึงได้เลย ความปลอดภัยของข้อมูลทางธุรกิจจะเป็นอย่างไร เราอยากให้ศาลมาอยู่ในกระบวนการนี้ เพราะสังคมจะรู้สบายใจมากขึ้น” นายไพบูลย์กล่าว และว่า ไม่ควรยกเว้นความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่หรือของหน่วยงานรัฐ เพราะนายกฯหรือคณะรัฐมนตรี(ครม.)ทำความผิดต่อหน้าที่ยังไม่มีกฎหมายยกเว้นให้
นายไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า กฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเดิมได้คุ้มครองการรายงานข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ แต่ร่างนี้ได้ตัดทิ้ง หากบังคับใช้นักข่าวต้องตกงานและจะมีคนตกงานมากขึ้น เพราะไม่มีอะไรให้รายงานได้อีกต่อไป และกฎหมายนี้ยังให้อำนาจสำนักงานธุรกรรมทางอิเลกทรอนิกส์มีอำนาจทางปกครอง เช่น มีอำนาจปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาทที่เป็นอำนาจของธนาคารแห่งประเทศไทยกรณีกระทำผิดในการทำธุรกรรมทางการเงิน
ส่วนนางสุวรรณา สมบัติรักษาสุข ประธานศูนย์ศึกษากฎหมาย สถาบันอิศรา กล่าวว่า การแก้ไขกฎหมาย กสทช.เพื่อให้การให้บริการและการกำกับดูแลมาอยู่ด้วยกัน จะทำให้อุตสาหกรรมโทรทัศน์ล้มครืน เพราะวันนี้ยังไม่ได้จัดสรรคลื่นไปให้ประชาชนตามกฎหมายเลยแม้แต่คลื่นเดียว กสทช. ต้องเป็นอิสระทั้งการบริหารและโครงสร้าง เงิน และคน แต่โครงสร้างใหม่มีตัวแทนกสท.และทีโอทีเข้ามาเป็นกรรมการ เป็นทั้งผู้รับใบอนุญาตและผู้กำกับดูแล ถือเป็นการดึงอำนาจกลับไปอีกครั้ง และไม่มีอิสระในงบประมาณ เพราะถูกดึงไปกองทุนส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิตอลหมด ผิดหลักการที่เงินได้จากกิจการใดก็ควรเป็นไปเพื่อพัฒนากิจการนั้นๆ การประมูลที่สร้างรายได้สูง เพราะคนต้องการครอบครองคลื่น วันนี้จึงมีแมงเม่าเข้าไปเป็นจำนวนมาก โดยภาพรวมมองว่า กสทข.มีปัญหามากในการทำงาน มีแนวคิดผิดพลาด แต่เป็นปัญหาเรื่องคน ไม่ใช่เรื่องกฎหมายหรือระบบ และรัฐบาลต้องใช้เงินงประมาณจำนวนมากในการผลิตเนื้อหาในคลื่นต่างๆ ซึ่งจะเป็นภาระกับงบประมาณของรัฐในอนาคต
ส่วนนางมรกต กุลธรรมโยธิน อุปนายกสมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต กล่าวว่า กฎหมายค่อนข้างมีอำนาจจนน่าตกใจ แต่เป็นไปอย่างหลวมๆ ไม่มีขั้นตอนและวิธีการใช้ดุลพินิจ การเก็บข้อมูลไว้ในระบบสองปี ที่
กฎหมายบอกว่าให้ไว้ตามความจำเป็น ซึ่งเอกชนจำเป็นก็ไม่รู้อะไรเป็นสิ่งจำเป็นแค่ไหน เพราะหากเก็บไว้มากก็เป็นภาระของผู้บริหารอินเทอร์เน็ต
ส่วนนางวารุณี รัชตพัฒนากุล ผู้ผลิตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ กล่าวว่า ความเชื่อถือและมั่นใจของเอกชนว่าข้อมูลจะไม่ถูกนำไปใช้อย่างผิดกฎหมายเป็นเรื่องสำคัญ เรามีความเป็นห่วงว่าสิทธิบุคคลและองค์กรเอกชนได้รับการเคารพหรือไม่ เพราะเป็นโอกาสให้รัฐเข้าถึงข้อมูลได้เต็มที่ เราอยากเห็นกฎหมายที่ชัดเจน ว่าสิทธิขั้นพื้นฐานได้รับการเคารพ ต้องมีการถ่วงดุลและตรวจสอบ จึงขอให้ผู้ร่างกฎหมายคำนึงถึงหลักการนี้ และอยากให้ผู้ที่อยู่ในอุตสาหากรรมซอฟต์แวร์ฯได้มีโอกาสในการร่างกฎหมายหรือเสนอความเห็นในโอกาสต่อไป
นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันอิศรา กล่าวว่า คนร่างกฎหมายมีความเร่งรัดและมีแนวคิดให้อำนาจรัฐ ที่น่าจะหมดไปได้แล้ว หากนำแนวคิดที่พวกเราเสนอไปแล้วปรับปรุงน่าจะมีความเหมาะสมกว่า จึงเห็นควรว่ารัฐบาลต้องนำร่างกฎหมายกลับมาทบทวนใหม่ทั้งหมด หากถอนไม่ได้ ก็อยากเสนอให้คณะกรรมการกฤษฎีเปิดให้รับฟังความคิดเห็น เพราะเป็นเรื่องแปลกที่กฎหมายให้อำนาจทั้งการเข้าถึงและคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
และนายปราเมศร์ มินศิริ ผู้แทนเว็บไซต์กระปุกดอทคอม กล่าวว่า การตัดสินใจลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ เขาต้องดูกฎหมาย ถ้าเห็นกฎหมายเหล่านี้แล้ว นักลงทุนก็คงเลือกไปลงทุนที่อื่นๆ เช่น มาเลเซีย ที่ส่งเสริมด้านต่างๆ ให้ผู้ลงทุน มีการเพิ่มศักยภาพ การให้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แม้แต่คนไทยเองที่อยากขยายการลงทุน ก็อาจย้ายฐานใหญ่ไปต่างประเทศกันหมด
“กฎหมายต้องเอื้อต่อการลงทุนให้มาก แต่กฎหมายนี้กำลังจะทำให้เรากลายเป็นประเทศที่มีแฮกเกอร์เป็นจำนวมากขึ้นๆ” นายปราเมศวร์กล่าว
จากนั้นภายหลังการหารือ นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า วันนี้ถือว่านายวิษณุมารับฟังอย่างเดียวว่าองค์กรต่างๆที่เกี่ยวข้องมีความคิดเห็นอย่างไรเพื่อนำไปดำเนินการ โดยจะมีการเชิญคณะของเราไปชี้แจงและแสดงความคิดเห็นภาพรวมในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกาในกฎหมายดิจิตัลทั้ง 10 ฉบับที่มีเกี่ยวข้องกัน จากนั้นเมื่อรัฐบาลร่างกฎหมายจะเสร็จแล้วก็จะส่งร่างกฎหมายให้เราดูอีกรอบเพื่อมีความคิดเห็น ก็จะเป็นการรับฟัง2ระดับ
ด้านนายจักรกฤษณ์ เพิ่มพูล กล่าวว่า เมื่อรัฐบาลได้รับฟังคิดเห็นจากพวกเราแล้ว ในขั้นของการตั้งกรรมาธิการก็จะเสนอชื่อตัวแทนองค์ที่เกี่ยวข้องเข้าไปเป็นกรรมาธิการด้วย
ขณะที่นายปราเมศวร์ มิรศิริ กล่าวว่า การหารือวันนี้เป็นที่น่าพอใจ โดยกลุ่มของเรามีการอธิบายให้นายวิษณุเข้าใจ โดยนายวิษณุรับปากว่าเมื่อส่งกลับไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาไปร่างเป็นกฎหมายมีการลงรายละเอียดรายมาตรา เมื่อร่างกฎหมายใกล้เสร็จก็จะเชิญพวกเราไปร่วมดูอีกครั้ง ถือว่ารัฐบาลยอมชะลอ
“คำว่าชะลอจริงๆก็คือมันยังเดินหน้า ไม่ได้เรียกว่าถอย แต่กระบวนการเปิดให้มีส่วนร่วมในชั้นคณะกรรมการกฤษฎีกา และยังมีการรับปากอีกเรื่องคือจะให้มีกรรมาธิการมากกว่า 15 คนในชั้นของสภา
นิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ถือว่าพอใจไหมก็น่าพอใจในแง่ของการมีส่วนร่วม แต่ในแง่ของผลลัพธ์เป็นอย่างไรเราไม่รู้ก็ต้องรอดู”นายปราเมศวร์ กล่าว
นายวิษณุ เปิดเผยภายหลังว่า มีการพูดคุยในเรื่องกฎหมายความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์และชุดกฎหมายดิจิทัล ทั้งหมด 10 ฉบับ ว่ามีความคิดเห็นอยางไรเกี่ยวกับร่างกฎหมายชุดนี้ ซึ่งทางรัฐบาลได้มีการส่งให้สำนักงานกฤษฎีกาตรวจทานเนื่องจากมีเสียงวิพากย์วิจารณ์ในวงกว้างในช่วงที่ผ่านมาและนายกรัฐมนตรีก็มีความเป็นห่วงซึ่งท่านเคยปรารภกับตนครั้งหนึ่งว่า ช่วยลงไปฟังผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมายฉบับนี้หน่อยว่ามีการวิพากย์วิจารณ์อย่างไร เราจะสามารถปรับปรุงอะไรได้ โดยความเห็นที่ผู้เข้าร่วมประชุมได้แสดงออกและชี้ให้เห็นถึงจุดอ่อนของกฎหมายดังกล่าวทั้ง 10 ฉบับ ซึ่งอย่างน้อยมี 3 ประเด็นสำคัญใหญ่ๆ ที่จะต้องพิจารณาแก้ไขโดยด่วน
ประเด็นแรกคือ ความกำกวมของถ้อยคำภาษาจนอาจทำให้ผู้ปฏิบัตินั้นปฏิบัติไม่ถูก เมื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติไม่ถูกก็จะเกิดความยุ่งยากกับภาคเอกชน ซึ่งเกิดจากการตีความของเจ้าหน้าที่รัฐ ในทางกลับกันหากผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูกคือภาคเอกชน ก็จะสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำผิด จึงต้องมีการปรับปรุงภาษาให้มีความชัดเจน ประเด็นที่ 2 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งยังไม่มีการควบคุมการใช้อำนาจรัฐ หลายมาตรการที่เขียนในกฎหมาย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ อาจมีโอกาสไปล่วงล้ำสิทธิเสรีภาพ โดยไม่จำเป็น และไม่มีมาตรการถ่วงดุล ซึ่งได้มีการยกตัวอย่างในมาตรา 35 ซึ่งเจ้าหน้าที่สามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ ภาคเอกชนก็บอกว่าหากเจ้าหน้าที่ดำเนินการเข้าไปตรวจสอบเองโดยไม่มีอำนาจศาลก็ไม่มีความไว้วางใจ ซึ่งจะเรียกว่าเป็นจุดอ่อนที่ขาดการถ่วงดุลและเกณฑ์การใช้อำนาจโดยปราศจากการควบคุม และประเด็นที่ 3 คือกฎหมายบางฉบับสร้างภาระให้แก่ภาคเอกชน เช่น ที่ระบุว่าเอกชนต้องเก็บข้อมูลบางอย่างไว้อย่างน้อย 2 ปี จากที่ไม่เคยต้องเก็บ รัฐจึงต้องชี้แจงถึงความจำเป็นที่เอกชนจะต้องรับภาระ
นายวิษณุกล่าวว่า ในวันนี้กฎหมายดังกล่าวอยู่ในขั้นของกฤษฎีกา ยังมีระยะเวลาอีกยาวนาน วันนี้ขอให้เข้าใจตรงกันว่า กฎหมายดิจิทัลทั้ง 10 ฉบับนี้ ซึ่งแบ่งได้เป็นหลายชุด โดยชุดแรก 4 ฉบับ ให้กรรมการกฤษฎีกาคณะที่หนึ่งตรวจทาน คณะที่สอง อีก 2 ฉบับ คณะที่สาม 1 ฉบับ คือการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และคณะที่สี่ อีก 3 ฉบับ ซึ่งต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาแยกกันตรวจสอบ หากตั้งคณะกรรมการเพียงชุดเดียวตรวจทั้งหมดคาดว่าคงใช้เวลาหลายปี ซึ่งเมื่อภาคเอกชนได้ฟังก็เป็นห่วงเนื่องจากกฎหมายทั้ง 10 ฉบับมีความเชื่อมโยงกัน เกรงว่าจะขาดการบูรณาการ ซึ่งตนได้ชี้แจงไปว่า ในที่สุดสำนักงานกฤษฎีกา ซึ่งเป็นเจ้าภาพรับผิดชอบ จะมีการบูรณาการจากคณะกรรมการที่ตรวจสอบก่อนหน้านี้ และเมื่อถึงเวลาส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็จะมีการตั้งคณะกรรมาธิการเพียงคณะเดียวเพื่อตรวจสอบ อย่าได้เป็นห่วงเพราะการบูรณาการจะต้องเกิด ไม่มีใครยอมให้กะรุ่งกะริ่งแน่
นอกจากนี้ นายวิษณุ กล่าวว่า ตนยังได้บอกกับภาคเอกชนว่า จะนำเรื่องเรียนนายกรัฐมนตรีว่ามีประเด็นข้อห่วงใยอย่างไรและจะแจ้งไปยังกฤษฎีกาว่าอยากให้ภาคเอกชนเข้าไปชี้แจงภาพรวมแก่กรรมการกฤษฎีกาในทุกคณะที่ตรวจสอบร่างกฎหมายดิจิทัลเพื่อจะได้เห็นภาพรวมและเห็นปัญหาทั้งหมด ซึ่งภาคเอกชนก็ยินดีที่จะเข้าร่วมชี้แจง เพื่อจะได้บอกถึงประเด็นข้อขัดแย้งใหม่ที่อาจจะเกิดขึ้นหลังกฤษฎีกาปรับแก้เสร็จแล้ว และเมื่อใดที่กฎหมายฉบับนี้ส่งไปยังสนช. รัฐบาลจะขอให้ภาคเอกชนเข้าไปเป็นกรรมาธิการวิสามัญในสัดส่วนของรัฐบาล เพื่อเข้าไปนั่งร่วมกันแก้ไขในชั้นของสภาด้วย
เมื่อถามว่า มาตรา 35 ในพ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ต้องแก้ไขใช่หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า เช่นเดียวกันกับอีกหลายมาตรา เพราะดูแล้วมันมีประเด็นข้อห่วงใยตามที่ภาคเอกชนพูดจริงๆ เมื่อถามว่า นอกจากมาตรา 35 ของพ.ร.บ.ดังกล่าว ยังมีกฎหมายฉบับอื่นๆ ที่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าถึงข้อมูลได้อีก นายวิษณุกล่าวว่า มีกฎหมายที่ไม่ได้อยู่ในชุดกฎหมาย 10 ฉบับนี้ ซึ่งรัฐบาลไม่คิดจะแก้ แต่เอกชนระบุว่ามันโยงถึงกันได้ เช่น กฎหมายที่ว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งภาคเอกชนห่วงใยว่าจะมีประโยชน์อะไร หากมีกฎหมายคุ้มครองไซเบอร์ แต่ยังมีการละเมิดตามเว็บไซต์อยู่ จึงต้องแก้ทั้งระบบ และตนยังได้ บอกไปว่า กฎหมายทั้ง 10 นี้ เป็นเรื่องทางเศรษฐกิจดิจิทัล 9 ฉบับ ฉบับอีกอันคือความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ไม่ใช่เรื่องเศรษฐกิจ มันหนักไปทางความมั่นคง รัฐบาลจึงให้น้ำหนักกับกฎหมายฉบับนี้เป็นตัวสุดท้าย จึงจะดำเนินการไปในระยะหลัง และบางฉบับใน 9 ฉบับจำเป็นต้องออกมาก่อน
นายวิษณุ กล่าวว่า ตนได้สอบถามทางกฤษฎีกาในคณะกรรมการที่แยกไปดูเรื่องความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งทางกรรมการดังกล่าวก็เห็นถึงประเด็นที่ไปกระทบสิทธิประชาชน และยังมองไม่เห็นความชัดเจนในบางเรื่องและการเพิ่มภาระกับภาคเอกชน ซึ่งตรงกับความห่วงใยของภาคเอกชน ที่ได้มาบอกเล่าในวันนี้ เมื่อถามว่า หากมีกรณีเช่น แถลงการณ์พระราชวังปลอมออกมา พ.ร.บ.ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์จจะมีประโยชน์หรือไม่ นายวิษณุกล่าวว่า ยังคิดไม่ออก เพราะวิธีการที่จะทำมีสารพัด ขนาดวันนี้ยังไม่ทันมี เจ้าหน้าที่ก็เหมือนจะจับได้แล้ว
ข่าวจาก http://www.komchadluek.net/detail/20150206/200942.html
ภาพจากการประชุม