“สมาพันธ์ดิจิทัล”ยื่นหนังสือค้านร่าง พรบ.คอมฯ ให้บล็อกเว็บไม่ผิดกฎหมาย

ผู้แทนสมาพันธ์ดิจิทัลไทยยื่นหนังสือต่อประธานกรรมาธิการฯ ร่าง พรบ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ บอกเห็นด้วยกับที่มีการแก้ไขไปส่วนใหญ่ ยกเว้นมาตรา 20 (4) ที่ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ไปขออำนาจศาลบล็อกเว็บไซต์ได้ แม้เว็บไซต์นั้นจะไม่ได้กระทำการละเมิดกฎหมาย ชี้กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและมีผลต่อการเติบโตของของเศรษฐกิจดิจิทัล

เมื่อเวลา 10.00 น.วันนี้ (25 ส.ค.59) ที่อาคารรัฐสภา 2 ผู้แทนสมาพันธ์ดิจิทัลไทย นำโดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ที่ปรึกษาสมาพันธ์ฯ, น.ส.กนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์, นายกิตติรักษ์ ม่วงมิ่งสุข นายกสมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์สและนายศุภเสฏฐ์ ชูชัยศรี นายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย ได้ร่วมกันยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นต่อการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อ พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ และนายวิทยา ฉายสุวรรณ สนช.

ทั้งนี้ เนื้อหาของหนังสือดังกล่าวระบุว่า สมาพันธ์ดิจิทัลไทย ขอสนับสนุนการแก้ไขเพิ่มเติมร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญฯ ดำเนินการอยู่ในขณะนี้ในทุกมาตราเว้นแต่มาตรา 20(4) ซึ่งมีรายละเอียดว่า “ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังต่อไปนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจ ขอให้มีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลายหรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้…

…(4) ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่มีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าวตามที่รัฐมนตรีแต่งตั้งมีมติเป็นเอกฉันท์ให้พนักงานเจ้าหน้าที่โดยได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรีอาจยื่นคำร้องพร้อมแสดงพยานหลักฐานต่อศาลที่มีเขตอำนาจขอให้ศาลมีคำสั่งระงับการทำให้แพร่หลาย หรือลบซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์นั้นออกจากระบบคอมพิวเตอร์ได้…”

โดยสมาพันธ์ดิจิทัลไทยได้พิจารณาร่วมกันแล้ว มีความเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าวมีหลักการที่ขัดต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนที่ควรจะถูกจำกัดสิทธิเฉพาะในเรื่องที่ผิดกฎหมายอย่างชัดแจ้ง การมีบทบัญญัติเช่นนี้ ย่อมกระทบกระเทือนต่อสิทธิในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน ตลอดจนอาจมีผลกระทบต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมตามนโยบายของรัฐบาล

ด้าน พล.ต.อ.ชัชวาลย์ สุขสมจิตร์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญกล่าวหลังจากได้รับหนังสือว่า ประเด็นที่ทางสมาพันธ์เสนอความคิดเห็นมานั้น คณะกรรมาธิการกำลังพิจารณาอยู่ โดยจะรับฟังความคิดเห็นจากทุกๆฝ่ายให้รอบด้าน เพื่อให้เกิดความสมดุลกันระหว่างสิทธิเสรีภาพของประชาชนกับปัญหาด้านความมั่นคง ทั้งนี้จะมีการนำความเห็นของทางสมาพันธ์ฯ เข้าพิจารณาในคณะกรรมาธิการด้วย
สำหรับสมาพันธ์ดิจิทัลไทย ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 21 เม.ย. 2559 โดยเป็นการรวมตัวของสมาคมและชมรมทางด้านดิจิทัลทั้งหมด 9 องค์กร ได้แก่ 1. สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ 2. สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย 3. สมาคมผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตไทย 4. สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) 5. สมาคมโปรแกรมเมอร์ไทย 6. สมาคมการค้าเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่ 7. สมาคมศึกษาและพัฒนาโอเพ่นซอร์ส 8. สมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และ 9. ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า