เมื่อวันที่ 8 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมา นางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ได้รับเชิญเป็นวิทยากรในหัวข้อ “ศาลเตี้ยออนไลน์ …คนโพสต์จ่อคุก…เหยื่อ ทุกข์ระทม”ณ ห้องประชุม ชั้น 4 อาคารสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซ.พหลโยธิน 57 ถ.พหลโยธิน กรุงเทพฯ โดยมีวิทยากรร่วมเสวนาประกอบด้วย ว่าที่พันตรี สมบัติ
วงศ์กำแหง อุปนายกฝ่ายบริหาร ผู้อำนวยการสำนักฝึกอบรมวิชาว่าความฯ สภาทนายความ ผศ.พิจิตรา สึคาโมโต้ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนายปรเมศ เหล็กเพ็ชร์ อุปนายกฝ่ายสิทธิเสรีภาพและการปฏิรูปสื่อ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยและผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเป็นผู้ดำเนินรายการ โดยสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
ว่าที่ ร.ต.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความกล่าวว่า ปัจจุบันมีการหมิ่นประมาทผ่านไลน์กลุ่ม เมื่อเกิดความเสียหายแก่บุคคลอื่น ก็ต้องมีความผิดทางอาญาและตามพ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ดังนั้นก่อนแชร์อะไร ขอให้ใช้ความระมัดระวังด้วย เพราะเมื่อแชร์ออกไปแล้ว แม้จะลบทิ้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถตามหาที่มาจนได้ ดังนั้น ผู้โพสต์จึงพึงคำนึงถึงความเสีย หายของผู้อื่นด้วย
ด้าน ผศ.พิจิตรา สีคาโมโต้ จากคณะนิติศาสตร์ ม.จุฬาลงกรณ์ฯ กล่าวว่า ปัจจุบันเกิดกระแสนักข่าวพลเมืองมากมาย โดยมีการแชร์คลิปเหตุการณ์ที่พบมาแล้วส่งต่อกันโดยไม่กลั่นกรอง เมื่อเกิดความผิดพลาดก็ทำให้เหยื่อที่ถูกโพสต์เสียหายนำไปสู่ความรุนแรงและเกิดความเกลียดชังและไล่ล่าหาตัวเหยื่อที่ถูกโพสต์ เช่น การลงภาพตัวบุคคลหรือภาพสถานที่ตั้งบ้านพัก ขอให้ สื่อหลักเช่น หนังสือพิมพ์ ทีวี อย่าเอาสื่อเหล่านี้มาสร้างเป็นประเด็นข่าวต่อ เพราะจะควบคุมไม่ได้ ที่สุดแล้วใครจะรับผิดชอบกับเหยื่อสื่อออนไลน์
ขณะที่ ว่าที่ พ.ต.สมบัติ วงศ์กำแหง อุปนายกสภาทนายความกล่าวว่า การแชร์คลิปโดยไม่ตรวจสอบก่อน หากผิดพลาดจะเสียหายเกิดกระแสเกลียดชังที่ เรียกกันว่า “ไล่ล่าแม่มด” เช่น ไปล้อมบ้าน ทำร้ายร่างกายหรือทำลายทรัพย์สินของเหยื่อที่ถูกโพสต์ ซึ่งเข้าข่ายความผิด ทำให้ผู้อื่นเสื่อมเสียอิสระภาพ ทำร้ายร่างกาย ทำให้เสียทรัพย์และผิดกฎหมายอาญาฐานหมิ่น ประมาทโดยการโฆษณากับพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ที่ยอมความไม่ได้
ส่วนคนที่โพสต์ครั้งแรกที่เอาความเท็จไปใส่ในระบบคอมพิวเตอร์ถือได้ว่า มีเจตนาเล็งเห็นผลว่าจะเกิดความผิดดังกล่าวได้ก็ต่องรับผิด ฐานเป็นผู้ใช้ ผู้โฆษณา หรือตัวการด้วย ปัจจุบันกำลังมีการแก้ไขกฎหมายนี้ให้ผู้ดูแลหรือเว็บมาสเตอร์ชี้แจงว่า ได้เอาใจใส่ดูแลแล้ว จึงจะได้ยกเว้นความผิด
ด้าน น.ส.กนกพร ประสิทธิผล กล่าวว่า มีปัจจัยเรื่องนโยบายของสื่อเกี่ยวกับเรื่องโฆษณา ที่ต้องทำให้ได้รับความนิยม การออกแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องมีวงเสวนาสำหรับแลกเปลี่ยนกัน สื่อออนไลน์สุ่มเสี่ยงมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีคือ สามารถแก้ไขได้ มีความรวดเร็ว การเชื่อมต่อที่กระจายไปได้ง่าย ดังนั้นสื่อต้องทำหน้าที่ในการยกระดับฐานความรู้ของประชาชนด้วย