5 องค์กรวิชาชีพสื่อ เข้าเสนอความเห็นปรองดอง วอนทบทวนออกฎหมายบังคับสื่อหลัก “เทพชัย” เผยสื่อต้องทำหน้าที่ ตรวจสอบ ไม่เลือกข้าง ชี้ ไม่เห็นด้วยสั่งปิดวอยซ์นาน 7 วัน แนะ “กสทช.” คงวนจริงจังบังคับใช้กม.
เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 28 มี.ค.60 ที่กระทรวงกลาโหม พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง พร้อมคณะอนุกรรมการฯ ได้เชิญภาคประชาสังคมเข้าให้ข้อคิดเห็นเสนอเเนวทางสร้างความปรองดอง 10 ประเด็นต่อเนื่อง โดยวันนี้ เป็นในส่วนขอองค์กรวิชาชีพสื่อ ประกอบด้วย สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ นำโดย นายปรเมศ เหล็กเพ็ชร์ นายกสมาคมฯและนายมงคล บางประภา อุปนายกฯ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ นำโดยนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมาปาณี ประธานสภาฯและนายชาย ปถะคามินทร์ เลขาธิการฯ ด้านสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นำโดย นายเทพชัย แซ่หย่อง นายกสมาคมฯ นายพีระวัฒน์ โชติธรรมโม เลขาธิการฯ ด้านสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย นำโดย นายวิสุทธิ์ คมวัชรพงศ์ ประธานสภาฯ และนายโกศล สงเนียม เลขาธิการฯ และสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ นำโดย นายวิชัย สอนเรือง กรรมการสมาคมฯ และในช่วงบ่ายเป็นองค์กรด้านสาธารณสุข ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ต่อมาเวลา 12.30 น.ที่บริเวณหน้ากระทรวงกลาโหม นายเทพชัย หย่อง นายกสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กล่าวว่า ประเด็นสำคัญคือทางสื่อมีความพร้อม ที่จะมีบทบาทในการสะท้อนความเห็น ส่วนต่างๆของสังคมเพื่อนำไปสู่การปรองดอง แต่ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรงคือการตั้งคำถามว่าจะทำอย่างไรให้สื่อไม่ตกเป็นเครื่องมือทางการเมืองในการสร้างความแตกแยก แต่ทางองค์กรวิชาชีพสื่อเองได้ย้ำว่าที่ผ่านมา สื่อไม่ได้เป็นเครื่องมือสร้างความแตกแยกด้วยตัวสื่อเอง แต่อำนาจทางการเมืองใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยก ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องย้ำ ว่ามีกลุ่มคนที่มีอำนาจในเกือบทุกยุคทุกสมัยที่ใช้สื่อในการเป็นเครื่องมือเพื่อผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะฉะนั้น หาไม่ต้องการให้สื่อตกเป็นเครื่องมือต้องมีการบังคับใช้กฎหมายที่จริงจัง และองค์กรที่กำกับดูแลสื่อ เช่น กสทช. ต้องมีความจริงจังและความเข้มแข็งในการบังคับใช้กฎระเบียบที่มีอยู่ ในความเป็นจริงแล้วในสังคมประชาธิปไตยการมีความเห็นไม่ลงรอยกันคือเรื่องธรรมดา แต่ต้องไม่ใช่ความเห็นที่นำไปสู่การสร้างความเกลียดชังซึ่งกันและกัน ซึ่งสื่อกระแสหลักคงไม่เห็นด้วยที่สื่อจะมีบทบาทในแง่ของการสร้างความแตกแยก และอีกประเด็นที่ให้ความเห็นตรงกันกับทุกองค์กรคือ เราไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิเสรีภาพส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน เพราะว่ากฎหมายฉบับนี้นำไปสู่กลไกที่เรียกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ที่จะถูกอำนาจการเมืองแทรกแซง และตรงนี้จะเป็นการเกิดช่องว่างให้การเมืองมาแทรกแซง จนนำไปสู่การใช้สื่อเป็นเครื่องมือในการสร้างความแตกแยก อีกครั้ง ซึ่งทางสภาได้ยืนยันชัดเจนว่าไม่เห็นด้วย
เมื่อถามว่า มองสถานการณ์สื่อในการนำเสนอข่าวสารในยุคปัจจุบันอย่างไรบ้าง นายเทพชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าในตอนนี้เราอยู่ในสภาวะบ้านเมืองไม่ปกติ จึงมีกฎกติกา การใช้อำนาจที่ไม่ปกติในการควบคุม กำกับสื่อ อย่างที่เราเห็น เพราะฉะนั้นเราจึงต้องยอมรับว่า ในปัจจุบันเราไม่ได้มีสิทธิเสรีภาพ ในยามปกติ แต่ผมขอยืนยันว่าสื่อต้องทำหน้าที่ในการตรวจสอบต่อไป เพราะว่าเราไม่สามารถปฏิเสธบทบาทในการเป็นสื่อ และเป็นปากเสียง แทนสังคมได้
“ผมมองว่าหากทุกฝ่ายมีความจริงใจ มีความตั้งใจ ทุกอย่างย่อมเกิดขึ้นได้แต่แน่นอนว่าต้องมีฝ่ายที่ต้องยอมเสียสละผลประโยชน์ส่วนตัว ยอมที่จะถอยและยอมที่จะพูดในเรื่องที่ตัวเองไม่ได้ประโยชน์ เพราะเป็นทางเดียว หากทุกคนได้ ก็ไม่มีใครที่จะเสียสละ ก็ไม่มีใครยอมทำในสิ่งที่ไปสู่การปรองดอง” นายเทพชัย กล่าว
นายเทพชัย กล่าวต่อว่า ในเรื่องปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการปรองดอง ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีของชินคอร์ป นั้นอาจถูกหยิบมาเป็นประเด็น ของบางกลุ่มที่อาจมองว่ากระบวนการเหล่านี้เป็นการเลือกกระทำ ที่รัฐบาลและฝ่ายมีอำนาจต้องทำคือ ทำให้เห็นว่า การปฏิบัติกับทุกลุ่ม ที่มีปัญหาทางกฎหมายต้องเท่าเทียมกัน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติเฉพาะกลุ่มที่เห็นว่าเป็นฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล
เมื่อถามว่า มองอย่างไรเกี่ยวกับการระงับการออกอากาศสถานีโทรทัศน์วอยซ์ทีวี 7 วัน นายเทพชัย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าไม่มีสื่อไหนที่สมบูรณ์ 100 เปอร์เซ็น อาจมีความผิดพลาด และอาจถูกมองว่าเลือกข้าง ไม่เป็นกลาง ไม่รอบด้านเท่าที่ควร แต่มันมีกระบวนการที่ปกติในสังคมประชาธิปไตยใช้ คือ การตักเตือน การลงโทษ เฉพาะประเด็นที่ผิดกฎ ระเบียบ กติกา ซึ่ง กสทช. มีบทบาทในการลงทา แบบนั้นอยู่แล้ว แต่ว่าการสั่งพัก ใบอนุญาตเป็นเวลา 7 วันติดกัน ส่วนตัวคิดว่า สังคมไทยยังไม่อยู่ในภาวะปกติ ยังมีอำนาจที่ใช้การปิดกั้น ในการแสดงความคิดเห็น ยิ่งอยู่ในยคที่ เราถูกทำให้เชื่อว่าเราจะกลับไปสู่ ความเป็นปกติของบ้านเมืองตามโรดแมพ ที่มีอยู่ จริงๆแล้วบรรยากาศความไปทางนั้นมากกว่า แต่ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เราก็มีคำถามว่า เราจะกลับไปสู่ความปกติของบ้านเมือง จริงๆหรือไม่
“ผมคิดว่า สื่อในยุคนี้ควรกลับมาทำหน้าที่ของสื่อที่เป็นพื้นฐาน คือการรายงานข่าวอย่างถูกต้อง เป็นธรรม และรอบด้าน และทำให้คนในสังคมรู้เท่าทัน ความเป็นไปในสังคมและที่สำคัญต้องตรวจสอบทุกภาคส่วน ไม่ใช่เลือกปฏิบัติ ผมคิดว่าตรงนี้หากสื่อทำหน้าที่ได้อย่างดี สื่อกระแสหลักก็จะกลับมาเป็นที่ไว้ใจของสังคม และผมก็เชื่อว่าในช่วงเปลี่ยนผ่าน บทบาทของสื่อกระแสหลักที่น่าเชื่อถือ มีหลักการในการทำงาน จะมีบทบาทสำคัญมาก เพราะว่า ทุกวันนี้เราเต็มไปด้วยข้อมูลข่าวเท็จบ้าง ข่าวปล่อยบ้างในโลกของการสื่อสารสมัยใหม่ มันจำเป็นต้องมีสื่อกระแสหลักที่มีเสียงที่เป็นเหตุ เป็นผล มีที่มาที่ไป ให้คนในสังคมได้เห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่เป็นข่าวมานั้น มีที่มาอย่างไร และมีใครบ้างที่ได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ อย่างไร ทั้งนี้เราต้องแยกแยะให้ได้ระหว่างสื่อสองสื่อนี้ “ นายเทพชัยกล่าว
ด้านนายชวรงค์ ลิมป์ปัทมาปาณี ประธานสภาสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ กล่าวว่า พวกเราพยายามที่จะชี้ให้อนุกรรมการเห็นถึงความแตกต่างและความสำคัญของสื่อกระแสหลัก ว่ายังมีความจำเป็น เพราะทุกวันนี้มีข่าวที่ยังเป็นข่าวหลอก ในโซเซียลมีเดียเยอะ และทุกวันนี้คนที่ทำหน้าที่พิสูจน์ข้อเท็จจริงของข่าวก็คือสื่อกระแสหลัก จึงพยายามที่จะบอกว่า ไม่ควรทำอะไรที่เป็นการจำกัดการทำหน้าที่ของสื่อกระแสหลัก ที่มีหน้าที่นำเสนอความจริงแก่สังคม และยิ่งจะออกกฎหมายในการคุมสื่อกระแสหลัก ก็เป็นเรื่องที่อนุกรรมการควรทบทวนให้ดีว่าสิ่งที่กำลังทำสอดคล้องกับสถานการณ์มากน้อยแค่ไหน
ขณะที่ นายมงคล บางประภา อุปนายกฯสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์ กล่าวว่า ตัวแทนองค์กรสื่อทั้ง 5 องค์กรเห็นด้วยกันคือไม่ปรารถนา ที่จะให้มีสถานการณ์ความขัดแย้ง รุนแรงย้อนกลับมาอีกครั้งในสังคม ดังนั้นอยากให้มีหลักประกันให้สังคมมั่นใจว่าสังคมจะไม่ย้อนกลับไปสู่จุดนั้นอีกครั้ง เพราะสื่อเองก็ปรารถนาให้สังคมกลับสู่ภาวะปกติอีกครั้ง และสื่อกระแสหลักเองก็คงต้องไม่ไปแข่งกับสื่อโซเซียลในเรื่องความเร็ว เพราะเขานำเสนอข่าวได้ทุกวินาที แต่สื่อกระแสหลักต้องรักษาจุดยืน ของความเป็นแบบอย่างและการทำหน้าที่สื่อในสังคม ไม่เช่นนั้นสังคมจะมองไม่เห็น ความแตกต่างและการทำหน้าของนักสื่อสารมวลชน