หมวดที่ ๑
ความทั่วไป
ข้อ ๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า ONLINE NEWS PROVIDERS ASSOCIATION
ข้อ ๒. เครื่องหมายของสมาคมมีลักษณะ เป็นรูปวงกลมสีดำ ด้านบนของวงกลมมีลักษณะเปิดและมีเส้นดำ หนาทึบลากเข้ามาด้านในจุดกึ่งกลางของวงกลมโดยด้านบนของวงกลมและเส้นดำดังกล่าว จะมีเส้น ครึ่งวงกลมสีน้ำตาล จำนวน ๓ เส้น ครอบอยู่ในลักษณะคลื่นไล่จากขนาดเล็กไปยังขนาดใหญ่ และ ด้านขวาของรูปภาพดังกล่าวมีชื่อภาษาอังกฤษของสมาคมกำกับอยู่ในแนวตั้ง และด้านล่างของ วงกลมสีดำจะปรากฏภาษาอังกฤษคำว่า SONP กำกับอยู่
มีความหมายว่า สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
รูปของเครื่องหมายสมาคม
ข้อ ๓. สำนักงานใหญ่ของสมาคมตั้งอยู่เลขที่ ๕๓๘/๑ ถนนสามเสน แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร
ข้อ ๔. วัตถุประสงค์ของสมาคม เพื่อ
๔.๑ ส่งเสริมและรักษาสภาพแวดล้อมของการแสดงออกอย่างเสรีของสื่อบนอินเทอร์เน็ต
๔.๒ กระตุ้นการมีส่วนร่วมของพลเมืองในการส่งเสริม และการป้องกันเสรีภาพของสื่อบน อินเทอร์เน็ต
๔.๓ ช่วยเหลือและส่งเสริมและเพื่อให้ได้มาซึ่งสภาพแวดล้อมสำหรับสื่อบนอินเทอร์เน็ตที่มีความรับผิดชอบและเสรี
๔.๔ สร้างศักยภาพของสื่อบนอินเทอร์เน็ตที่มีความหลากหลายและอิสระและความ สามารถทางวิชาชีพของบุคคล
๔.๕ ส่งเสริมการเข้าถึงที่กว้างขวางขึ้นในข้อมูลและธรรมาภิบาล
๔.๖ ดำเนินการ หรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
๔.๗ ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
หมวดที่ ๒
สมาชิก
ข้อ ๕. สมาชิกของสมาคมมี ๒ ประเภท คือ
๕.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ ผู้ประกอบธุรกิจผลิตข่าวออนไลน์ที่เป็นนิติบุคคล หรือได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตามข้อบังคับ ให้ถือว่าผู้เริ่มการก่อตั้งทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ
๕.๒ สมาชิกวิสามัญ มี 2 ประเภท ได้แก่
๕.๒.๑ ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบธุรกิจผลิตข่าวออนไลน์มาไม่ถึง ๖ เดือน หรือไม่เข้าเงื่อนไขการเป็นสมาชิกตามระเบียบว่าด้วยสมาชิก แต่ประสงค์จะสมัครเป็นสมาชิกสมาคม
๕.๒.๒ ผู้ประกอบการที่เป็นนิติบุคคลหรือบุคคลธรรมดาซึ่งประกอบธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการผลิตข่าวออนไลน์ และมีความสนใจเข้าร่วมกิจกรรมของสมาคม
ข้อ ๖. สมาชิกจะต้องประกอบด้วยคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
๖.๑ บุคคลธรรมดา
๖.๑.๑ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะแล้ว
๖.๑.๒ เป็นผู้มีความประพฤติเรียบร้อย
๖.๑.๓ ไม่เป็นโรคที่สังคมรังเกียจ
๖.๑.๔ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้เป็นบุคคลล้มละลาย หรือไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ หรือต้องโทษจำคุก ยกเว้นความผิดฐานประมาท หรือลหุโทษ การต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็น ในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่างที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
๖.๒ นิติบุคคล
๖.๒.๑ มีวัตถุประสงค์ในการประกอบกิจการด้านสื่อสารมวลชน
๖.๒.๒ ไม่ประกอบกิจการอันใดอันเป็นการละเมิดกฎหมาย
๖.๒.๓ ไม่ต้องคำพิพากษาของศาลถึงที่สุดให้ล้มละลาย โดยการต้องคำพิพากษาของศาล ถึงที่สุดในกรณีดังกล่าวจะต้องเป็นในขณะที่สมัครเข้าเป็นสมาชิก หรือในระหว่าง ที่เป็นสมาชิกของสมาคมเท่านั้น
ข้อ ๗. สมาชิกทุกประเภทต้องชำระค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคมครั้งละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท ทั้งนี้อัตราค่าลงทะเบียน และค่าบำรุงสมาคม อาจมีการเปลี่ยนแปลงตามมติของคณะกรรมการสมาคม
ข้อ ๘. การสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม ให้ผู้ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมยื่นใบสมัคร ตามแบบของสมาคมต่อเลขานุการ โดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย ๒ คน และให้เลขานุการติดประกาศรายชื่อผู้สมัครไว้ ณ สำนักงานของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๑๕ วัน เพื่อให้สมาชิกอื่น ๆ ของสมาคมจะได้คัดค้านการสมัครนั้น เมื่อครบกำหนดประกาศแล้วก็ให้เลขานุการนำใบสมัคร และหนังสือคัดค้านของสมาชิก (ถ้ามี) เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติต่อไป
การพิจารณาอนุมัติการรับสมาชิกา่มัญและสมาชิกวิสามัญประเภทที่ ๑ ให้ใช้เสียงข้างมากของที่ประชุม แต่มติในการรับสมาชิกวิสามัญประเภท ๒ ต้องใช้เสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของคณะกรรมการที่มาร่วมประชุม เมื่อคณะกรรมการพิจารณาการสมัครแล้ว ผลเป็นประการใดให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว และสถานภาพเริ่มเมื่อชำระค่าบำรุงสมาคมแล้ว
ข้อ ๙. สมาชิกภาพของสมาชิกกิตติมศักดิ์ ให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่หนังสือตอบรับคำเชิญของผู้ที่คณะกรรมการได้ พิจารณาลงมติให้เชิญเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมได้มาถึงยังสมาคม
ข้อ ๑๐. สมาชิกภาพของสมาชิกให้สิ้นสุดลงด้วยเหตุดังต่อไปนี้
๑๐.๑ เลิกกิจการหรือคำพิพากษาสั่งให้ล้มละลาย
๑๐.๒ ลาออก โดยยื่นหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และคณะกรรมการได้พิจารณาอนุมัติ และสมาชิกผู้นั้นได้ชำระหนี้สินที่ยังติดค้างอยู่กับสมาคมเป็นที่เรียบร้อย
๑๐.๓ ขาดคุณสมบัติในการเป็นสมาชิก
๑๐.๔ ที่ประชุมใหญ่ของสาคม หรือคณะกรรมการได้พิจารณาลงมติให้พ้นจากการเป็นสมาชิก เพราะสมาชิกผู้นั้นได้ประพฤตินำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
ข้อ ๑๑. สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญมีดังต่อไปนี้
๑๑.๑ มีสิทธิเข้าใช้สถานที่โดยเท่าเทียมกัน
๑๑.๒ มีสิทธิเสนอความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินการของสมาคมต่อคณะกรรมการ
๑๑.๓ มีสิทธิได้รับสวัสดิการต่าง ๆ ที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๑.๔ มีสิทธิเข้าร่วมประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๑.๕ มีสิทธิในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการสมาคม และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนนเสียง
๑๑.๖ มีสิทธิร้องขอต่อคณะกรรมการ เพื่อตรวจสอบเอกสารและบัญชีทรัพย์สินของสมาคม
๑๑.๗ มีสิทธิเข้าชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด ร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
๑๑.๘ มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามระเบียบปฏิบัติ และข้อบังคับของสมาคมโดยเคร่งครัด
๑๑.๙ มีหน้าที่ประพฤติตนให้สมกับเกียรติที่เป็นสมาชิกของสมาคม
๑๑.๑๐ มีหน้าที่ให้ความร่วมมือและสนับสนุนการดำเนินกิจการต่าง ๆ ของสมาคม
๑๑.๑๑ มีหน้าที่ร่วมกิจกรรมที่สมาคมได้จัดให้มีขึ้น
๑๑.๑๒ มีหน้าที่ช่วยเผยแพร่ชื่อเสียงของสมาคมให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย
๑๑.๑๓ มีหน้าที่รักษาผลประโยชน์และเกียรติคุณของสมาคม กับต้องสนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมของสมาคม และปฏิบัติตามข้อบังคับหรือระเบียบของสมาคม รวมถึงจริยธรรมของวิชาชีพทุกประการ
สมาชิกวิสามัญทุกประเภทมีสิทธิและหน้าที่เช่นเดียวกันกับสมาชิกสามัญ ยกเว้นสิทธิในข้อ ๑๑.๕-๑๑.๗
และเพื่อส่งเสริมการรักษานโยบาย การรักษาผลประโยชน์ และเกียรติคุณของสมาคม และส่งเสริมจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนของสมาคม ฯ ประธาน ฯ จึงเสนอให้เพิ่มเติมข้อบังคับเกี่ยวกับการควบคุมความประพฤติสมาชิกลงในข้อบังคับ โดยกำหนดจริยธรรมของวิชาชีพของสื่อมวลชน และกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมวิชาชีพสื่อ สอดส่องและควบคุมความประพฤติของสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับและจริยธรรมวิชาชีพ โดยเพิ่มหมวดใหม่ในข้อบังคับคือ หมวดที่ ๗ ว่าด้วยการควบคุมความประพฤติสมาชิก ในข้อบังคับ ๔๐-๔๓
ข้อ ๑๒. ให้มีคณะกรรมการคณะหนึ่ง ทำหน้าที่บริหารกิจการของสมาคม มีจำนวนอย่างน้อย ๑๕ คน อย่าง มากไม่เกิน ๒๐ คน คณะกรรมการนี้ได้มาจากการเลือกตั้งของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม และให้ผู้ที่ได้เลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งกันเองเป็นนายกสมาคม ๑ คน และอุปนายกตามจำนวนที่ที่ประชุมเห็นสมควร สำหรับตำแหน่งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ให้นายกสมาคมเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้ที่ได้รับเลือกตั้งจากที่ประชุมใหญ่เข้าดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ของสมาคมตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งตำแหน่งของกรรมการสมาคมมีตำแหน่งและหน้าที่โดยสังเขปต่อไปนี้
๑๒.๑ นายกสมาคม ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าในการบริหารกิจการของสมาคม คณะกรรมการของสมาคมเป็นผู้แทนสมาคมในการติดต่อกับ บุคคลภายนอกและทำหน้าที่เป็นประธานในที่ประชุมคณะกรรมการ และการประชุมใหญ่ของสมาคม
๑๒.๒ อุปนายก ทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยนายกสมาคมในการบริหารกิจการสมาคม ปฏิบัติตามหน้าที่ที่นายกสมาคมได้มอบหมายและทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ แต่การทำหน้าที่แทนนายกสมาคม ให้อุปนายกสมาคมตามลำดับตำแหน่งเป็นผู้กระทำการแทน
๑๒.๓ เลขานุการ ทำหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการของสมาคมทั้งหมดเป็นหัวหน้าเจ้าหน้าที่ของสมาคมในการปฏิบัติกิจการของสมาคมและ ปฏิบัติตามคำสั่งของนายกสมาคม ตลอดจนทำหน้าที่เป็นเลขานุการในการประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
๑๒.๔ เหรัญญิก ทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินทั้งหมดของสมาคม เป็นผู้จัดทำบัญชี รายรับ รายจ่าย บัญชีงบดุลของสมาคม และเก็บเอกสาร หลักฐานต่าง ๆ ของสมาคมไว้เพื่อตรวจสอบ
๑๒.๕ ปฏิคม ทำหน้าที่ในการให้การต้อนรับแขกของสมาคม เป็นหัวหน้าในการจัดเตรียมสถานที่ของสมาคม และจัดเตรียมสถานที่ประชุมต่าง ๆ ของสมาคม
๑๒.๖ นายทะเบียน ทำหน้าที่เกี่ยวกับทะเบียนสมาชิกทั้งหมดของสมาคม ประสานงานกับเหรัญญิกในการเรียกเก็บเงินค่าบำรุงสมาคมจากสมาชิก
๑๒.๗ ประชาสัมพันธ์ ทำหน้าที่เผยแพร่กิจการและชื่อเสียงเกียรติคุณของสมาคมให้สมาชิก และบุคคลโดยทั่วไปให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย
๑๒.๘ กรรมการตำแหน่งอื่น ๆ ตามความเหมาะสม ซึ่งคณะกรรมการเห็นสมควรกำหนดให้มีขึ้นโดยมีจำนวนเมื่อรวมกับตำแหน่งกรรมการตามข้างต้นแล้ว จะต้องไม่เกินจำนวนที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้ แต่ถ้าคณะกรรมการมิได้กำหนดตำแหน่งก็ถือว่าเป็นกรรมการกลาง
คณะกรรมการชุดแรก ให้ผู้เริ่มการจัดตั้งสมาคมเป็นผู้เลือกตั้ง ประกอบด้วยนายกสมาคมและกรรมการอื่น ๆ ตามจำนวนที่เห็นสมควรตามข้อบังคับของสมาคม
ข้อ ๑๓. คณะกรรมการของสมาคมมีวาระดำรงตำแหน่งได้คราวละ ๒ ปี และเมื่อคณะกรรมการอยู่ในตำแหน่งครบกำหนดตามวาระแล้ว แต่คณะกรรมการชุดใหม่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ ก็ให้คณะกรรมการที่ครบกำหนดตามวาระรักษาการไปพลางก่อน จนกว่าคณะกรรมการชุดใหม่ จะได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ และเมื่อคณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก็ให้ทำการส่งและรับมอบงานกันระหว่างคณะกรรมการชุดเก่าและคณะกรรมการชุดใหม่ให้เป็นที่เสร็จสิ้นภายใน ๓๐ วัน นับตั้งแต่วันที่คณะกรรมการชุดใหม่ได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนจากทางราชการ
ข้อ ๑๔. ตำแหน่งกรรมการสมาคม ถ้าต้องว่างลงก่อนครบกำหนดตามวาระก็ให้คณะกรรมการแต่งตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งที่เห็นสมควรเข้าดำรงตำแหน่งแทนตำแหน่งที่ว่างลงนั้น แต่ผู้ดำรงตำแหน่งแทนอยู่ในตำแหน่งได้เท่ากับวาระของผู้ที่ตนแทนเท่านั้น
ข้อ ๑๕. กรรมการอาจจะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งมิใช่เป็นการออกตามวาระด้วยเหตุผลต่อไปนี้ คือ
๑๕.๑ ตาย
๑๕.๒ ลาออก
๑๕.๓ ขาดจากสมาชิกภาพ
๑๕.๔ ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้ออกจากตำแหน่ง
ข้อ ๑๖. กรรมการที่ประสงค์จะลาออกจากตำแหน่งกรรมการให้ยื่นใบลาออกเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการ และให้พ้นจากตำแหน่งเมื่อคณะกรรมการมีมติให้ออก
ข้อ ๑๗. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
๑๗.๑ มีอำนาจออกระเบียบปฏิบัติต่างๆ เพื่อให้สมาชิกได้ปฏิบัติ โดยระเบียบปฏิบัตินั้นจะต้องไม่ขัดต่อข้อบังคับฉบับนี้
๑๗.๒ มีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนเจ้าหน้าที่ของสมาคม
๑๗.๓ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการที่ปรึกษา หรืออนุกรรมการได้ แต่กรรมการที่ปรึกษา หรือ อนุกรรมการจะสามารถอยู่ในตำแหน่งได้ไม่เกินวาระของคณะกรรมการที่แต่งตั้ง
๑๗.๔ มีอำนาจเรียกประชุมใหญ่สามัญประจำปี และประชุมใหญ่วิสามัญ
๑๗.๕ มีอำนาจแต่งตั้งกรรมการในตำแหน่งอื่น ๆ ที่ยังมิได้กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
๑๗.๖ มีอำนาจบริหารกิจการของสมาคมเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ ตลอดจนมีอำนาจอื่น ๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
๑๗.๗ มีหน้าที่รับผิดชอบในกิจการทั้งหมด รวมทั้งการเงินและทรัพย์สินทั้งหมดของสมาคม
๑๗.๘ มีหน้าที่จัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญ ตามที่สมาชิกสามัญจำนวน ๑ ใน ๕ ของสมาชิกทั้งหมด หรือสมาชิกจำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ได้เข้าขอชื่อร้อขอให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญขึ้น ซึ่งการนี้จะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่วิสามัญขึ้นภายใน ๓๐ วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือร้องขอ
๑๗.๙ มีหน้าที่จัดทำเอกสารหลักฐานต่าง ๆ ทั้งที่เกี่ยวกับการเงิน ทรัพย์สินและการดำเนินกิจกรรม ต่าง ๆ ของสมาคมให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถจะให้สมาชิกตรวจดูได้เมื่อสมาชิกร้องขอ
๑๗.๑๐ จัดทำบันทึกการประชุมต่างๆ ของสมาคม เพื่อเก็บไว้เป็นหลักฐานและจัดส่งให้สมาชิกได้รับทราบ
๑๗.๑๑ มีหน้าที่อื่นๆ ตามที่ข้อบังคับได้กำหนดไว้
ข้อ ๑๘. คณะกรรมการจะต้องประชุมกันอย่างน้อยปีละ ๑๒ ครั้ง โดยให้จัดขึ้นเป็นประจำเดือนละ ๑ ครั้ง ทั้งนี้เพื่อปรึกษาหารือเกี่ยวกับการบริหารกิจการของสมาคม
ข้อ ๑๙. การประชุมคณะกรรมการ จะต้องมีกรรมการเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งนึงของกรรมการทั้งหมดจึงจะถือว่าครบองค์ประชุม มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นก็ ให้นถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๒๐. ในการประชุมคณะกรรมการ ถ้านายกสมาคมและอุปนายกสมาคมไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ก็ให้กรรมการที่เข้าประชุมในคราวนั้นเลือกตั้งกันเอง เพื่อให้กรรมการคนใดคนหนึ่ง ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๔
การประชุมใหญ่
ข้อ ๒๑. การประชุมใหญ่ของสมาคมมี ๒ ชนิด คือ
๒๑.๑ ประชุมใหญ่สามัญ
๒๒.๒ ประชุมใหญ่วิสามัญ
ข้อ ๒๒. คณะกรรมการจะต้องจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ๆ ละ ๑ ครั้ง ภายในเดือน กันยายน ของทุก ๆ ปี
ข้อ ๒๓. การประชุมใหญ่วิสามัญอาจจะมีขึ้นได้ก็โดยเหตุที่คณะกรรมการเห็นควรจัดให้มีขึ้นหรือเกิดขึ้นด้วยการเข้าชื่อร่วมกันของสมาชิกไม่น้อยกว่า ๑ ใน ๕ ของสมาชิกสามัญทั้งหมด หรือสมาชิก จำนวนไม่น้อยกว่า ๑๐๐ คน ทำหนังสือร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดให้มีขึ้น
ข้อ ๒๔. การแจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้เลขานุการเป็นผู้แจ้งกำหนดนัดประชุมใหญ่ให้สมาชิกได้ทราบ และการแจ้งจะต้องแจ้งเป็นลายลักษณ์อักษร โดยระบุวัน เวลา และสถานที่ให้ชัดเจน โดยจะต้องแจ้งให้สมาชิกได้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า ๗ วัน และประกาศแจ้งกำหนดนัดประชุมไว้ ณ สำนักงาน ของสมาคมเป็นเวลาไม่น้อยกว่า ๗ วัน ก่อนถึงกำหนดการประชุมใหญ่
ข้อ ๒๕. การประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องมีวาระการประชุมอย่างน้อยดังต่อไปนี้
๒๕.๑ แถลงกิจการที่ผ่านมาในรอบปี
๒๕.๒ แถลงบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุลของปีที่ผ่านมาให้สมาชิกรับทราบ
๒๕.๓ เลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่ เมื่อครบกำหนดวาระ
๒๕.๔ เลือกตั้งผู้สอบบัญชี
๒๕.๕ เรื่องอื่นๆ ถ้ามี
ข้อ ๒๖. ในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี หรือการประชุมใหญ่วิสามัญจะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด จึงจะถือว่าครบองค์ประชุม แต่ถ้าเมื่อถึงกำหนด เวลาประชุมยังมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่ครบองค์ประชุม ให้คณะกรรมการของสมาคม เรียกประชุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยจัดให้มีการประชุมขึ้นภายใน ๑๔ วัน นับแต่วันที่นัดประชุมครั้งแรก สำหรับการประชุมในครั้งหลังนี้ ถ้ามีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมเป็นจำนวนเท่าใดก็ให้ถือว่าครบองค์ ประชุม ยกเว้นถ้าเป็นการ ประชุมใหญ่วิสามัญที่เกิดขึ้นจากการร้องขอของสมาชิกก็ไม่ต้องจัดประชุม ใหญ่ให้ถือว่าการประชุมเป็นอันยกเลิก
ข้อ ๒๗. การลงมติต่าง ๆ ในที่ประชุมใหญ่ ถ้าข้อบังคับมิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ก็ให้ถือคะแนนเสียงข้างมากเป็นเกณฑ์ แต่ถ้าคะแนนเสียงที่ลงมติมีคะแนนเสียงเท่ากันก็ให้ประธานในการประชุมเป็นผู้ชี้ขาด
ข้อ ๒๘. ในการประชุมใหญ่ของสมาคม ถ้านายกสมาคม และอุปนายกสมาคมไม่มาร่วมประชุมหรือไม่ สามารถจะปฏิบัติหน้าที่ได้ก็ให้ที่ประชุมใหญ่ทำการเลือกตั้งกรรมการที่มาร่วมประชุมคนใดคนหนึ่ง ให้ทำหน้าที่เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
หมวดที่ ๕
การเงินและทรัพย์สิน
ข้อ ๒๙. การเงินและทรัพย์สินทั้งหมดให้อยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการ เงินสดของสมาคมถ้ามีให้นำ ฝากไว้ในธนาคาร ไทยพาณิชย์ สาขา สามเสน
ข้อ ๓๐. การลงนามในตั๋วเงินหรือเช็คของสมาคมจะต้องมีลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทน ลงนามร่วมกับเหรัญญิก หรือเลขานุการ พร้อมกับประทับตราของสมาคมจึงจะถือว่าใช้ได้
ข้อ ๓๑. ให้นายกสมาคมมีอำนาจสั่งจ่ายเงินของสมาคมได้ครั้งละไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท(หนึ่งหมื่นบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่านั้นจะต้องได้รับอนุมัติจากคณะกรรมการและคณะกรรมการ จะอนุมัติให้จ่ายเงินได้ครั้งละไม่เกิน ๕๐,๐๐๐ บาท (ห้าหมื่นบาทถ้วน) ถ้าจำเป็นจะต้องจ่าย เกินกว่านี้ ต้องได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสมาคม
ข้อ ๓๒. ให้เหรัญญิก มีอำนาจเก็บรักษาเงินสดของสมาคมได้ไม่เกิน ๕,๐๐๐ บาท (ห้าพันบาทถ้วน) ถ้าเกินกว่าจำนวนนี้ จะต้องนำฝากธนาคารในบัญชีของสมาคมทันทีที่โอกาสอำนวยให้
ข้อ ๓๓. เหรัญญิกจะต้องทำบัญชีรายรับ รายจ่าย และบัญชีงบดุล ให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ การรับหรือจ่ายเงินทุกครั้งจะต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือ ลงลายมือชื่อของนายกสมาคม หรือผู้ทำการแทนร่วมกับเหรัญญิก หรือผู้ทำการแทน พร้อมกับประทับตราของสมาคมทุกครั้ง
ข้อ ๓๔. ผู้สอบบัญชีจะต้องมิใช่กรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคม และจะต้องเป็นผู้สอบบัญชีที่ได้รับอนุญาต
ข้อ ๓๕. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจหน้าที่จะเรียกเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินและทรัพย์สินจากคณะกรรมการและ สามารถจะเชิญกรรมการหรือเจ้าหน้าที่ของสมาคมเพื่อสอบถามเกี่ยวกับบัญชีและทรัพย์สินของสมาคมได้
ข้อ ๓๖. คณะกรรมการจะต้องให้ความร่วมมือกับผู้สอบบัญชี เมื่อได้รับการร้องขอ
หมวดที่ ๖
การเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับและการเลิกสมาคม
ข้อ ๓๗. ข้อบังคับสมาคมจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่เท่านั้น และองค์ประชุมใหญ่จะต้องมีสมาชิกสามัญเข้าร่วมประชุมไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของสมาชิกสามัญทั้งหมด มติของที่ประชุมใหญ่ในการให้เปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อบังคับ จะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด
ข้อ ๓๘. การเลิกสมาคมจะเลิกได้ก็โดยมติของที่ประชุมใหญ่ของสมาคม ยกเว้นเป็นการเลิกเพราะเหตุ ของกฎหมาย มติของที่ประชุมใหญ่ที่ให้เลิกสมาคมจะต้องมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๓ ใน ๔ ของสมาชิกสามัญที่เข้าร่วมประชุมทั้งหมด และองค์ประชุมใหญ่จะต้องไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ของสมาชิกสามัญทั้งหมด
ข้อ ๓๙. เมื่อสมาคมต้องเลิก ไม่ว่าด้วยเหตุใด ๆ ก็ตามทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากที่ได้ชำระบัญชี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตกเป็นของมูลนิธิ หรือสมาคมที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการสาธารณกุศลตามที่ทางสมาคมเห็นชอบ
หมวดที่ ๗
การควบคุมประพฤติสมาชิก
ข้อ ๔๐. จริยธรรมของวิชาชีพตามข้อ ๑๑ ที่สมาชิกทุกคนต้องยึดถือปฏิบัติได้แก่
๔๐.๑ ส่งเสริมและรักษาไว้ซึ่งเสรีภาพของการเสนอข้อมูลข่าวสารและความคิดเห็นบนเว็บไซต์
๔๐.๒ การนำเสนอข้อมูลข่าวสารบนเว็บไซต์จะต้อวไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล หรือพาดพิงให้เกิดความเสียหายต่อบุคคลหนึ่งบุคคลใด หากพบข้องความในลักษณะดังกล่าวจะต้องรีบแก้ไขให้ถูกต้องโดยเร็ว
๔๐.๓ ในการได้มาซึ่งเนื้อหา ภาพ เสียง วีดีโอ โปรแกรม หรือข้อมูลอื่นใด มาเผยแพร่บนเว็บไซต์จะต้องใช้วิธีการที่ถูกต้องตามกฎหมายเท่านั้น
๔๐.๔ ไม่กระทำการก่อกวน บุกรุก ทำความเสียหาย ให้แก่เครื่องให้บริการและระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์ของผู้อื่น
๔๐.๕ ไม่กระทำการอันเป็นการบั่นทอนเกียรติคุณของวิชาชีพ หรือความสามัคคีของเพื่อนร่วมวิชาชีพ
ข้อ ๔๑. ให้คณะกรรมการบริหาร เลือกคณะกรรมการคสบคุมจริยธรรมวิชาชีพ จากสมาชิกสามัญ ผู้มีความประพฤติดี ขึ้นคณะหนึ่ง มีจำนวนไม่เกินห้าคนที่มีคุณสมบัติเช่นเดียวกับบุคคลในข้อ ๖.๑
ข้อ ๔๒. คณะกรรมการควบคุมจริยธรรมมีหน้าที่
๔๒.๑ สอดส่องและควบคุมความประพฤติของสมาชิกให้เป็นไปตามข้อบังคับ และจริยธรรมวิชาชีพ
๔๒.๒ สอบสวนสมาชิกที่ถูกกล่าวหาว่าประพฤติผิดจริยธรรม เมื่อได้รับคำขอจากคณะกรรมการบริหาร
๔๒.๓ สอบสวนคุณสมบัติ และความประพฤติของผู้สมัครเป็นสมาชิกใหม่ ตามที่คณะกรรมการบริหารร้องขอ ในกรณีที่คณะกรรมการควบคุมจริยธรรมวิชาชีพดำเนินการสอบสวนแล้ว ให้เสนอความเห็นเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคณะกรรมการบริหารเพื่อดำเนินการต่อไป
ข้อ ๔๓. คณะกรรมการควบคุมจริยธรรมวิชาชีพมีวาระการดำรงตำแหน่งเท่ากับอายุของคณะกรรมการบริหารในปีนั้น
หมวดที่ ๘
บทเบ็ดเตล็ด
ข้อ ๔๐. การตีความข้อบังคับของสมาคม หากเป็นที่สงสัยให้ที่ประชุมใหญ่โดยเสียงข้างมากของที่ประชุมชี้ขาด
ข้อ ๔๑. ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วยสมาคมมาใช้บังคับ ในเมื่อข้อบังคับของสมาคมมิได้กำหนดไว้ และหากมีข้อบังคับใดขัดกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ก็ให้ถือปฏิบัติตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ข้อ ๔๒. สมาคมต้องไม่ดำเนินการหาผลประโยชน์มาแบ่งปันกัน หรือเพื่อบุคคลใด นอกจากเพื่อดำเนินการ ตามวัตถุประสงค์ของสมาคมเอง
หมวดที่ ๙
บทเฉพาะกาล
ข้อ ๔๓. ข้อบังคับฉบับนี้นั้นให้เริ่มใช้บังคับได้นับแต่วันที่สมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล เป็นต้นไป
ข้อ ๔๔. เมื่อสมาคมได้รับอนุญาตให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลจากทางราชกาลก็ให้ถือว่าผู้เริ่มการทั้งหมดเป็นสมาชิกสามัญ
ผู้จัดทำข้อบังคับ
(นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี)