สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เปิดตัวโครงการ Stop Fake, Spread Facts จัดเสวนาร่วมหาทางออกหยุดการนำเสนอข่าวปลอม

สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์เปิดตัวโครงการ Stop Fake, Spread Facts จัดเสวนาร่วมหาทางออกหยุดการนำเสนอข่าวปลอม ชี้เฟคนิวส์แก้ไม่ได้ อย่างน้อยต้องมีภูมิคุ้มกัน

เมื่อวันอังคารที่ 15 มีนาคม 2565 สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ (SONP ) ได้จัดงานเสวนา Stop Fake, Spread Facts หยุดข่าวปลอมด้วยข้อเท็จจริง ที่ Convention Hall ชั้น 2 อาคาร D ไทยพีบีเอสสำนักงานใหญ่ เพื่อหาทางออกในการหยุดการนำเสนอข่าวปลอม เพิ่มพื้นที่การสร้างสรรค์การสื่อสารข้อเท็จจริงออกไปให้มากที่สุด ด้วยวิธีการสื่อสารใหม่ ๆ บนโลกออนไลน์

โดยนายระวี ตะวันธรงค์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ระบุว่า มีความยินดีกับการมีส่วนแก้ไขปัญหาเฟคนิวส์ ซึ่งปัญหานี้ไม่สามารถแก้ได้ด้วยใครคนใดคนหนึ่ง ทางสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ขอเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขและหาทองออก รวมถึงเพื่อเป็นบรรทัดฐานของประเทศ

สำหรับปัญหาข่าวปลอมหลายหน่วยงานทั้งไทยและต่างประเทศพยายามแก้ไข สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์มีสมาชิกกว่า 40 ราย มียอดวิวเฉลี่ย 40% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ ถือว่ามีศักยภาพในการช่วยจัดการปัญหานี้ได้ ที่ผ่านมาสื่อในสมาคมฯเองก็พยายามแก้ไขข้อเท็จจริงในข่าวสารต่างๆ แต่ข่าวปลอมส่วนใหญ่แพร่กระจายไปในวงกว้างด้วยความรวดเร็ว เราไม่สามารถแก้ต้นตอได้ แต่แก้การแพร่กระจายได้

อย่างไรก็ตามหลายปีมา พบว่าการจัดการกับข่าวปลอมเป็นเรื่องที่แก้ยากมาก เป็นเรื่องใหม่กับการใช้สื่อผ่านโซเชียล ผู้ให้ข้อมูลข่าวสารมีมากกว่าสื่อสาธารณะ ตนเชื่อว่าจะไปถึงจุดที่ประชาชนสามารถรู้เองว่า แหล่งต้นทางข่าวไหนน่าเชื่อถือ ไม่น่าเชื่อถือ

ขณะที่ในต่างประเทศมีการตื่นตัวในเรื่องนี้ หลายประเทศมีแนวทางของตัวเองในการรับมือด้วยวิธีการหลากหลาย การคัดกรองคอนเทนท์ก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ก็ยังพบข่าวปลอมแพร่ระบาดในหลายแพลตฟอร์ม เช่นสถานการณ์ยูเครน โดยเฉพาะภาพและข่าวที่ออกมาจากพื้นที่มี ซึ่งมีทั้งเก่าและใหม่ผสมกัน เป็นต้น

ดร. เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ที่ปรึกษา Co Fact ประเทศไทย เปิดเผยว่า ภาพรวมของเฟคนิวส์เป็นสถานการณ์คล้ายๆกันทั่วโลก ที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับการมาของอินเทอร์เน็ต ในยุคที่ใครๆก็เป็นสื่อได้ ข้อมูลที่เผยแพร่ข่าวสารมาจากหลากหลายแหล่ง ข่าวหรือข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จจึงกลายมาเป็นปัญหา จนอาจต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องปกติ โอกาสการเผยแพร่ข้อมูลผิดมีได้ตลอดเวลา

โดยสรุปมองว่า ข่าวปลอมเป็นสถานการณ์ที่ต้องอยู่ร่วมได้ แต่ต้องมีการดูแล สื่อมวลชนต้องมีหน่วยตรวจสอบอยู่ในองค์กร และควรมีฐานข้อมูลที่ตรวจสอบแล้ว นักตรวจสอบ องค์ความรู้ที่ตรวจสอบ แจ้งรายงานข่าวปลอมในพื้นที่ที่ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ สถานการณ์ข่าวปลอมไม่สามารถรู้ได้ว่าจุดจบอยู่ตรงไหน แต่ต้องอยู่ร่วมกับข่าวปลอมอย่างรู้เท่าทัน และต้องมีกลไกมาเชื่อมโยงในการจัดการกับข่าวปลอมด้วยความร่วมมือของหลายๆฝ่าย

ด้านนายธนภณ เรามานะชัย Trainer, Google News Initiative กล่าวว่า ปัญหาข่าวปลอมในประเทศไทย ไม่ต่างจากในต่างประเทศมากนัก แต่ในช่วงนี้มีกรณีตัวอย่างที่เพิ่มเติมเข้ามาคือภาพข่าวปลอม โดยเฉพาะข่าวยูเครน กับการนำภาพเก่าจากสถานการณ์อื่นมาใช้ซํ้าให้คนเข้าใจผิด แต่ปัญหานี้สามารถตรวจสอบได้ทางเว็บไซต์กูเกิลโดยตรง รวมถึงล่าสุดกูเกิลเองก็เพิ่งมีเครื่องมืออย่าง Google Fact Check มาช่วยรับมือกับข่าวปลอมอีกทางหนึ่ง

นอกจากนี้ นายธนภณ ยังเปิดเผยว่าคำว่า ข่าวปลอมกูเกิลและต่างประเทศไม่ได้ใช้กันแล้ว โดยมีการทำข้อตกลงไม่ให้ใช้คำว่า เฟคนิวส์ เพราะคำนี้ถูกนำไปใช้เกี่ยวกับวาทกรรมทางการเมือง เอามาโจมตีกัน ถูกใช้ในบริบทการเมืองซะมาก จนเกินเลยคำว่าข่าวปลอม ซึ่งตอนนี้จะใช้คำที่ตรงกว่าคือ ข้อมูลลวง ข้อมูลหลอก แทน

ด้าน นาย ภูวสิษฏ์ สุขใส บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ภาคใต้โฟกัส, Songkhla Focus กล่าวถึงเฟคนิวส์ว่า ไม่ได้เป็นสิ่งใหม่ แต่มีพัฒนาการปรากฏชัดขึ้นหลังโลกออนไลน์เข้ามามีบทบาทในสังคม โดยปัญหาข่าวปลอมมาหนักขึ้นในยุคของโซเชียลมีเดีย ในส่วนของภูมิภาค กระทบภาคใต้ 5 จังหวัดตอนล่าง กับบริบทของชายแดน ที่มีความหลากหลาย ไม่สงบ มีการแย่งชิงมวลชน จากรากปัญหาในอดีต เมื่อมีปัญหาอื่นๆเข้ามา ก็ง่ายจะมีข่าวปลอมเกิดขึ้น เช่น ข่าวเงินกู้กยศ. ข่าวโควิด เป็นต้น

สำหรับด้านที่ไม่ค่อยถูกพูดถึง ข่าวปลอมส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยว เศรษฐกิจ การค้า การลงทุน ทำให้เสียโอกาสสำหรับประชาชนในพื้นที่ จากความไม่เชื่อมั่นของคนนอกพื้นที่ ปัญหานี้มีการตรวจสอบข้อมูลอยู่ แต่สื่อฯยุคปัจจุบันที่มีความหลากหลาย แต่ขาดการดูแลก็เพิ่มโอกาสในการเผยแพร่ข่าวปลอม โดยเฉพาะที่มีต้นตอมาจากต่างประเทศยิ่งจัดการยาก ในระดับภูมิภาคจึงถือว่ามีผลกระทบรุนแรง ยากต่อการแก้ไข ต้องได้รับการบูรณาการปัญหาร่วมกันของหลายภาคส่วนให้ทันท่วงที ด้วยการสร้างวาระในการจัดการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง การจัดการจากระดับชาติสู่ชุมชนต้องมีแกนเดียวกัน และมีวงในการจัดการที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่

ช่วงท้าย นายระวี ตะวันธรงค์ เปิดเผยว่า ส่วนตัวมองว่าปัญหาเฟคนิวส์ไม่มีทางแก้ไขได้ 100% เพราะปัญหามาจากหลายปัจจัย อาจต้องใช้วิธีการสร้างโอกาสในการทำความเข้าใจของประชาชนและร่วมกันต่อต้านข่าวปลอม โดยอย่างน้อยประชาชนต้องมีภูมิคุ้มกันในการรับข่าวสาร ซึ่งจุดนี้ทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนต้องช่วยกัน
อย่างไรก็ดี การรู้เท่าทันหรือมีความเข้าใจในเฟคนิวส์ ต้องยอมรับว่าในประเทศไทย มีคนส่วนน้อยที่เข้าใจตรงนี้ ไม่ได้เข้าใจกันทั้งประเทศ สุดท้ายสิ่งที่สื่อนำเสนอข้อมูลเรื่องเฟคนิวส์ออกไปอาจจะสื่อถึงแค่คนในกรุงเทพหรือหัวเมือง ซึ่งการเข้าถึงกลุ่มคนเชิงประชากรศาสตร์ทำได้ยาก ต้องช่วยกันคนละไม้คนละมือ ไปในทิศทางเดียวกัน

สิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ทุกคนเห็นภาพเดียวกัน แล้วเชื่อมโยงกัน ถือเป็นโจทย์ใหญ่ของทั้งประเทศ โดยไทยยังไม่มีเครื่องมือในการจัดการกับเฟคนิวส์เป็นของตัวเอง หน่วยงานรัฐจึงต้องเข้ามาช่วยสนับสนุน

พร้อมกันนี้สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ยังได้เปิดตัวโครงการ Stop Fake, Spread Facts ซึ่งเป็นโครงการที่ทางสมาคมฯได้รับการสนับสนุนจาก กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ( กทปส.) โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศรัญญ์ทิตา ชนะชัยภูวพัฒน์ หัวหน้าโครงการฯกล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักรู้ในปัญหาข่าวปลอม เพื่อสร้างเครือข่ายการมีส่วนร่วมกับภาคสื่อ และภาคประชาชนทั่วประเทศ โดยใช้กลยุทธ์ Collaborative ประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เพื่อแพร่กระจายข่าวสาร ข้อเท็จจริงเชิงสร้างสรรค์ ลดข่าวปลอม ข้อมูลเท็จ โดยเริ่มจากการวิจัยวิเคราะห์สภาพปัญหาทั้งในและต่างประเทศ จัดระดมความคิดเห็นเพื่อศึกษาแนวปฏิบัติในการกำกับดูแล และกลไกในการขับเคลื่อนที่เป็นรูปธรรม ผลิตคู่มือสำหรับสื่อและประชาชน และนำแนวคิดที่ได้มาสร้างสรรค์เป็นภาพยนตร์โฆษณาซึ่งจะเป็นเครื่องมือในการสื่อสารควบคู่กับกิจกรรมการรณรงค์ที่ใช้ชื่องานว่า “Fact-Story Festival” ที่จะจัดให้กับสื่อและประชาชนผู้รับสารทุกภูมิภาค

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้เพื่อการวิเคราะห์

    คุกกี้ประเภทนี้จะทำการเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ของคุณ เพื่อเป็นประโยชน์ในการวัดผล ปรับปรุง และพัฒนาประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ ถ้าหากท่านไม่ยินยอมให้เราใช้คุกกี้นี้ เราจะไม่สามารถวัดผล ปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ได้
    รายละเอียดคุกกี้

บันทึกการตั้งค่า