โดยที่ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 มีผลบังคับใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา ตามมาตรา 4 ของ พรบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล กำหนดยกเว้นไม่ใช้กับการเก็บรวบรวมใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เท่าที่เป็นไปตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพของสื่อมวลชน หรือ เพื่อประโยชน์สาธารณะ จึงมีความจำเป็นต้องกำหนดประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพของสื่อมวลชน (“ประมวลจริยธรรม”) ฉบับนี้ ขึ้นมาเพื่อให้สอดคล้องกับกฎหมายฉบับดังกล่าว
หมวดที่ 1 บททั่วไป
ข้อ 1 ประมวลจริยธรรม ฉบับนี้ เรียกว่า “ประมวลจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล”
ข้อ 2 ประมวลจริยธรรมฉบับนี้จะใช้บังคับนับแต่วันที่ประกาศใน เดือนพฤษภาคม 2564 เป็นต้นไป
ข้อ 3 คำนิยาม
“ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทำให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ
“ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ” หมายความว่า ข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับเชื้อชาติ เผ่าพันธุ์ ความคิดเห็น ทางการเมือง ความเชื่อในลัทธิ ศาสนาหรือปรัชญา พฤติกรรมทางเพศ ประวัติอาชญากรรม ข้อมูลสุขภาพ ความพิการ ข้อมูลสหภาพแรงงาน ข้อมูลพันธุกรรม ข้อมูลชีวภาพ หรือข้อมูลอื่นใด ซึ่งกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในทำนองเดียวกัน
“สื่อมวลชน” หมายความว่า สื่อหรือช่องทางที่นำข่าวสาร สาร หรือเนื้อหาสาระทุกประเภทไปสู่ประชาชนเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชน โดยการขอใบอนุญาตหรือโดยการขึ้นทะเบียนเป็นสื่อมวลชนตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าการนำเสนอข้อมูลข่าวสารจะอยู่ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ สื่อดิจิทัล หรือในรูปอื่นใดที่สามารถสื่อความหมายให้ประชาชนทราบได้เป็นการทั่วไป ทั้งนี้สื่อมวลชนดังกล่าวต้องมีบรรณาธิการหรือการตรวจสอบเนื้อหาที่เผยแพร่ (Censor Ship)
“สื่อดิจิทัล” หมายความว่า สื่อมวลชนที่อาศัยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเผยแพร่สู่ประชาชน
“จริยธรรมสื่อมวลชน” หมายความว่า การประพฤติปฏิบัติทางวิชาชีพสื่อมวลชนตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพ
“ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความว่า บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นปกติธุระในการรวบรวม รายงาน วิเคราะห์ สร้างสรรค์วิธีการนำเสนอ หรือกำกับดูแลเนื้อหาของสื่อมวลชน
“องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน” หมายความว่า สถาบันหรือองค์กรที่มีวัตถุประสงค์และการดำเนินการที่เป็นการส่งเสริมจริยธรรมและวิชาชีพของสื่อมวลชนที่ได้รับการรับรองจากสื่อมวลชนหลัก
หมวดที่ 2 หลักการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพสื่อมวลชน
ข้อ 4 การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนย่อมมีสิทธิเสรีภาพในการเสนอข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นตามจริยธรรมของสื่อมวลชนโดยอิสระ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพดังกล่าวต้องทำเพื่อประโยชน์สาธารณะและไม่กระทบต่อสิทธิเสรีภาพและสิทธิส่วนบุคคลตามสมควร
การรายงานข่าวของสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนผ่านสื่อต่าง ๆ ต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ และกระทบหรือละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือข้อมูลส่วนบุคคลตามที่ระบุไว้ในกฎหมายและรัฐธรรมนูญให้น้อยที่สุด
หมวดที่ 3 จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชน
ข้อ 5 ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลตามที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้นสังกัดกำหนด
จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนต้นสังกัดกำหนดข้างต้นต้องไม่ขัดแย้งกับมาตรฐานจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับนี้ เว้นแต่ จริยธรรมแห่งวิชาชีพขององค์กรนั้นให้ความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมากกว่าประมวลจริยธรรมฉบับนี้
ข้อ 6 จริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน เรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล โดยทั่วไป ต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเคารพและปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนโดยเคร่งครัด
(2) การเสนอข่าวและความคิดเห็นที่ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลต้องเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ
(3) การเสนอข้อเท็จจริงที่ประกอบไปด้วยข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีความถูกต้องครบถ้วน และเป็นธรรม
(4) สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องมีมาตรการการให้ความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลหรือบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการเสนอข่าวหรือการแสดงความคิดเห็น โดยใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
(5) สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องเคารพสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคลของบุคคลที่เป็นข่าวที่เกี่ยวข้องในข่าวหรือในการแสดงความคิดเห็นที่พาดพิงถึงบุคคลดังกล่าว
(6) สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตต่อวิชาชีพสื่อมวลชน
(7) สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องปกป้อง และปฏิบัติต่อแหล่งข่าวอย่างเป็นธรรม
หมวดที่ 4 สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล
ข้อ 7 สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนต้องแจ้งสิทธิความคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดังต่อไปนี้ให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบก่อนเก็บรวบรวมใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล
(1) สิทธิในการให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลขอสำเนาข้อมูลส่วนบุคคลที่สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนดำเนินการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผย
(2) สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในการขอให้สื่อมวลชนแก้ไข ปรับปรุง เปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลที่เผยแพร่ให้ถูกต้องและทันสมัย
(3) สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในการขอให้สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคลที่ถูกเก็บรวบรวม ใช้ ประมวลผล หรือเปิดเผย อันมีผลกระทบต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล เว้นแต่การลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อประโยชน์สาธารณะ
(4) สิทธิของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลในการระงับ คัดค้าน การใช้เก็บรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
(5) สิทธิในการห้ามมิให้มีการโอนข้อมูลส่วนบุคคลไปให้บุคคลอื่นโดยเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอม
การใช้สิทธิดังกล่าวของเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลตามวรรคแรกต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและต้องไม่ขัดต่อการปกป้องส่วนได้ส่วนเสียตามกฎหมายของสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนหรือไม่ขัดต่อข้อกำหนดเงื่อนไขที่สื่อมวลชนแต่ละองค์กรระบุไว้ โดยข้อกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวต้องได้รับการรับรองจากองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน
หมวดที่ 5 หลักเกณฑ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
ข้อ 8. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและสื่อมวลชนต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลดังต่อไปนี้
(1) การเคารพสิทธิส่วนบุคคลและข้อมูลส่วนบุคคล
สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องเคารพความเป็นส่วนตัวของบุคคลซึ่งเป็นสิทธิพื้นฐานตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการใช้เก็บรวบรวม เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวพิเศษ (Sensitive Data) จะใช้เก็บรวบรวมเสนอข่าวที่มีข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวพิเศษ เฉพาะในกรณีที่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลยินยอมอย่างชัดแจ้ง หรือเป็นการทำเป็นการเพื่อประโยชน์สาธารณะเท่านั้น
(2) การประมวลผลหรือใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของสื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพึงระลึกว่าการใช้ข้อยกเว้นในฐานะสื่อมวลชนที่สามารถใช้เก็บรวบรวมเปิดเผย ประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลที่ได้รับข้อยกเว้นตามกฎหมาย โดยไม่ต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลให้ดำเนินการได้เท่าที่จำเป็นและพอสมควร โดยจะต้องใช้ในการรายงานข่าวเพื่อประโยชน์สาธารณชนเท่านั้น
การดำเนินการใช้เก็บรวบรวมเปิดเผยหรือประมวลผลข้อมูลส่วนบุคคลต้องมีมาตรการดังต่อไปนี้
(2.1) ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวต้องใช้และประมวลผลโดยถูกต้องและเป็นธรรม
(2.2) ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าวต้องใช้และประมวลผลโดยเฉพาะเจาะจง ชัดแจ้ง เท่าที่จำเป็นและเพื่อผลประโยชน์โดยชอบธรรมตามกฎหมาย
(2.3) ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกเก็บรวบรวมเท่าที่จำเป็นและต้องทันสมัยและมีความถูกต้องโดยไม่ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น
(2.4) ข้อมูลส่วนบุคคลต้องระบุระยะเวลาในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคลตามที่กฎหมายกำหนดและวิธีการป้องกันการรักษาความปลอดภัยและวิธีการทำลายข้อมูลส่วนบุคคลที่ไม่ได้ใช้แล้วให้ชัดแจ้งตามที่กฎหมายกำหนด
(3) ในการใช้เก็บรวบรวมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล ในการทำข่าว หรือ ทำสกู๊ปรายการพิเศษจะดำเนินการได้เฉพาะในฐานะสื่อมวลชนเท่านั้น
สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ต้องแจ้งให้เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลทราบถึงรายละเอียด วัตถุประสงค์ในการใช้ และได้รับความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนการเก็บรวบรวมใช้หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลทุกครั้ง เว้นแต่ เป็นกรณีการดำเนินการในฐานะสื่อมวลชนจะทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือเพื่อป้องกันการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น การใช้อำนาจโดยมิชอบของเจ้าหน้าที่ การกระทำผิดกฎหมาย การปกป้องความปลอดภัยทางด้านสาธารณสุขในด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ เพื่อความมั่นคงของประเทศ และ/หรือ เรื่องอื่น ๆ ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกำหนด
(4) การนำเสนอข่าวที่เกี่ยวข้องกับบุคคลสาธารณะ
การรายงานข่าวของสื่อมวลชน หรือ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ในส่วนของบุคคลสาธารณะหรือบุคคลที่มีชื่อเสียง สามารถทำได้เฉพาะในส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตความเป็นส่วนตัว และประโยชน์แก่สาธารณชนเท่านั้น
ในกรณีจำเป็นที่ต้องรายงานข่าวหรือเก็บรวบรวมใช้เปิดเผย ข้อมูลส่วนบุคคล โดยเฉพาะข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษ ไม่สามารถดำเนินการได้ เว้นแต่เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลยินยอมหรือต้องดำเนินการตามกฎหมายเท่านั้น
(5) การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการรายงานข่าวอาชญากรรม
สื่อมวลชนและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนมีสิทธิในการปกป้องผลประโยชน์ได้เสียของสังคมและรักษาความเป็นธรรมทางสังคม โดยการรายงานข่าวอาชญากรรมเพื่อป้องกันและคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยในการรายงานข่าว สำนักข่าวสามารถเก็บรวบรวมใช้เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลเท่าที่จำเป็นตามที่ประมวลจริยธรรมของแต่ละองค์กรวิชาชีพกำหนดไว้
อย่างไรก็ตามการใช้สิทธิดังกล่าวข้างต้น พึงระมัดระวังเรื่องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลตามกฎหมายในเรื่องดังต่อไปนี้
ก) สิทธิของเยาวชนหรือผู้เยาว์ที่มีกฎหมายระบุให้ห้ามเปิดเผยตัวตนและข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เยาว์และครอบครัว
ข) สิทธิผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวโทษโดยที่ศาลยังไม่มีคำพิพากษาถึงที่สุด
ค) การเปิดเผยตัวตนของบุคคลที่ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามกฎหมาย
ง) สิทธิส่วนบุคคลในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตร่างกายหรือชื่อเสียงซึ่งเป็นความลับส่วนบุคคล
จ) กรณีที่เป็นเรื่องอ่อนไหวและกระทบต่อศีลธรรมจรรยาซึ่งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจะประกาศเป็นกรณี ๆ ไป
(6) การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลกับสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media)
การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลในการเผยแพร่หรือรายงานข่าวกับสื่อสังคมออนไลน์จะต้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลดังกล่าว เพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายในกรอบประมวลจริยธรรม ที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนแต่ละที่กำหนดเท่านั้น
ห้ามมิให้ใช้ข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อการประชาสัมพันธ์หรือการตลาดส่วนบุคคลหรือเพื่อแสวงหากำไร โดยที่เจ้าของส่วนบุคคลไม่ได้อนุญาต ทั้งนี้ การดำเนินการใช้เก็บรวบรวมเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลที่นอกเหนือจากการทำหน้าที่สื่อมวลชนต้องเป็นไปตามมาตรฐานหลักเกณฑ์นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลที่องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกำหนด
หมวดที่ 6 มาตรการป้องกันการรั่วไหลข้อมูลส่วนบุคคล (Data Security)
ข้อ 9. ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนและสื่อมวลชนต้องจัดให้มีมาตรการรักษาความปลอดภัยที่เหมาะสมทั้งทางด้านบุคลากร (People) กระบวนการ (Process) และเทคโนโลยี (Technology) ตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด สำหรับข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมเปิดเผยหรือใช้เพื่อป้องกันการสูญหาย เข้าถึงใช้เปลี่ยนแปลง แก้ไขหรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลโดยปราศจากอำนาจหรือโดยมิชอบ รวมถึงมีระบบตรวจสอบเพื่อลบหรือทำลายข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บรวบรวมเอาไว้ เมื่อเกินกำหนดระยะเวลาที่จำเป็นต้องใช้
หมวดที่ 7 หลักปฏิบัติธรรมาภิบาลที่ดี (Best Practice) ในเรื่องข้อมูลส่วนบุคคล
ข้อ 10. เพื่อเป็นแนวปฏิบัติกำกับดูแลสื่อมวลชนที่ดี และคุ้มครองเรื่องธรรมาภิบาลของสื่อมวลชน สื่อมวลชน ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน และองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน ควรมีการกำหนดหลักปฏิบัติธรรมาภิบาลที่ดีในองค์กรเพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิ และข้อมูลส่วนบุคคลดังต่อไปนี้
(1) การแต่งตั้งแผนกคุ้มครองส่วนบุคคลและ/หรือเจ้าหน้าที่คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (DPO) ตามกฎหมาย
(2) การกำหนดนโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลภายในองค์กร
(3) สร้างกระบวนการในองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนในการกำกับดูแลเรื่องสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล และมาตรการป้องกันการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล
(4) มีกระบวนการตรวจสอบความเสี่ยงเรื่องการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคล (Privacy Impact Assessment)
(5) มีมาตรการให้แจ้ง ลบ เปิดเผย การใช้ข้อมูลส่วนบุคคลที่ผิดกฎหมาย
(6) มีการตรวจสอบ (Audit) การบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล
(7) ตรวจสอบข้อกำหนดเงื่อนไขสัญญา หรือข้อตกลงที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล
(8) จัดอบรมผู้ประกอบวิชาชีพในองค์กรของตนให้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
(9) จัดตั้งศูนย์ร้องเรียนเรื่องการละเมิดสิทธิในข้อมูลส่วนบุคคล
สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์
พฤษภาคม 2564