สมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มีมติกำชับสมาชิกยึดมั่นแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวจากโซเชียลมีเดีย
โดยต้องตรวจสอบที่มาให้ถูกต้องรอบด้านและไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลที่ประชุมกรรมการสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ มีมติกำชับสมาชิกยึดมั่นแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวจากโซเชียลมีเดีย โดยต้องตรวจสอบที่มาให้ถูกต้องรอบด้านและไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคล เด็กและสตรี
7 ส.ค. คณะกรรมการบริหารผู้ผลิตข่าวออนไลน์ได้มีการประชุมประจำเดือน ส.ค.2557 โดยที่ประชุมได้พิจารณาวาระสำคัญคือ ปัญหาจริยธรรมในการนำเสนอข่าวออนไลน์ เนื่องจากในขณะนี้ มีข้อสังเกตมาจากนักวิชาการและผู้บริโภคสื่อออนไลน์ว่า เว็บไซต์ข่าวต่างๆ ทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่เป็นสมาชิกของสมาคมฯ ได้นำเสนอข่าวลือ ข่าวปล่อยหรือข่าวที่เป็นกระแสอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) โดยไม่มีการตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าว หรือไม่มีการสัมภาษณ์ให้เกิดความสมดุลย์ของเนื้อหาข่าว อีกทั้งยังมีการนำเสนอภาพข่าวหรือถ้อยคำที่เข้าข่ายละเมิดสิทธิส่วนบุคคลและสิทธิเด็กและสตรีอีกด้วย
นางสาวสุธิดา มาไลยพันธุ์ นายกสมาคมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ เปิดเผยผลการประชุมในเรื่องนี้ว่า ที่ประชุมได้อภิปรายกันอย่างกว้างขวางและยอมรับว่า ภาพใต้การแข่งขันในการนำเสนอข่าวออนไลน์ รวมทั้งความแพร่หลายของสื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทำให้การนำเสนอข่าวและภาพข่าวทางเว็บไซต์ข่าวทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกสมาคมฯ มีลักษณะเข้าข่ายตามที่มีการตั้งข้อสังเกตดังกล่าวจริง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือและภาพลักษณ์ของเว็บไซต์ข่าวโดยรวมในระยะยาว
“ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้แจ้งไปยังสมาชิกของสมาคมฯ ถึงความห่วงใยดังกล่าว พร้อมทั้งกำชับให้สมาชิกสมาคมฯ ปฏิบัติตามแนวปฏิบัติในการนำเสนอข่าวและภาพข่าวของสมาชิกชมรมผู้ผลิตข่าว ออนไลน์ พ.ศ.2552 และแนวปฏิบัติเรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. 2553 โดยเคร่งครัด” นายกสมาคมฯ กล่าว
ทั้งนี้ แนวปฏิบัติเรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. 2553 ระบุว่า “ในการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร การนำเสนอ และการแสดงความคิดเห็น ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพึงระวังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเด็กและสตรี ภาพอุจาด ลามก อนาจาร หวาดเสียว และรุนแรง
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พึงระมัดระวังกระบวนการหาข่าวหรือภาพจากสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน รอบด้าน และควรอ้างอิงแหล่งที่มาเมื่อนำเสนอ เว้นแต่สามารถตรวจสอบและอ้างอิงจากแหล่งข่าวได้โดยตรง”
น.ส.สุธิดากล่าวด้วยว่า ที่ประชุมยังมีมติให้แต่งตั้งคณะทำงานด้านจริยธรรมเพื่อรับข้อร้องเรียนด้านจริยธรรมในการเสนอข่าว รวมทั้งหยิบยกประเด็นที่เป็นปัญหาเชิงจริยธรรมและกฎหมายที่น่าสนใจมาพิจารณาและแจ้งให้สมาชิกทราบเพื่อนำไปปรับปรุงการนำเสนอข่าวต่อไป และในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีของสมาคมในวันที่ 25 ก.ย. นี้ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ก็จะมีการจัดเสวนาในเรื่องนี้ด้วย
สำหรับผู้ผลิตข่าวออนไลน์ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม ได้แก่ บริษัท ไทยเดย์ ด็อทคอม จำกัด (www.manager.co.th) บริษัท เทรนด์ วีจี 3 จำกัด (www.thairath.co.th) บริษัท เดลินิวส์เว็บ จำกัด (www.dailynews.co.th) บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) (www.matichon.co.th, www.khaosod.co.th, www.prachachat.net ) บริษัท โพสต์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) ( www.bangkokpost.co.th, www.posttoday.com, www.student-weekly.com) บริษัท เนชั่น บรอดแคสติ้งคอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) (www.nationmultimedia.com , www.komchadluek.com , www.bangkokbiznews.com) บริษัท สยามสปอร์ต ซินดิเคท จำกัด (มหาชน) (www.siamsport.co.th , www.siamdara.com , www.siamsporttv.com , www.sbt.co.th) หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ (www.thannews.th.com) หนังสือพิมพ์สยามรัฐ (www.siamrath.co.th) หนังสือพิมพ์ดาราเดลี่ ( www.daradaily.com ) หนังสือพิมพ์แนวหน้า ( www.naewna.com ) หนังสือพิมพ์เชียงใหม่นิวส์ (www.chiangmainews.co.th ) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (www.thaipbs.or.th ) บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) ( www.mcot.net ) หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ( www.banmuang.co.th ) และสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ (www.springnewstv.tv )