25 กันยายน 2557 ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมผู้สื่อข่าวออนไลน์ (#SONP) จัดเวที เสวนาเรื่อง “จริยธรรม-ความเป็นมืออาชีพของสื่อในยุคสังคมออนไลน์” โดยมีผู้ร่วมเสวนา ประกอบด้วย ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วย อธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ และอาจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์ฯ สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ (#NIDA) คุณปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและเว็บมาสเตอร์เด็กดีดอทคอม, คุณศิวัตร เชาวรีย์วงศ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลประเทศไทย (#DAAT), คุณวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ manager.co.th
ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ระบุว่า ปัจจุบันเส้นแบ่งระหว่างผู้สื่อข่าวมืออาชีพกับนักข่าวพลเมืองทั่วไปไม่ได้ชัดเจนเหมือนเมื่อก่อน เพราะเว็บไซต์ข่าวเอง มีการแข่งขันที่สูงขึ้น และสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟสบุ๊กมีการปรับปรุงให้มีผู้เข้าถึงเนื้อหามากขึ้น ประกอบกับธรรมชาติของคนที่มักจะคลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวกับเรื่องเพศและความรุนแรงต่างๆ ทำให้เว็บไซต์ข่าวใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นทั้งแหล่งข่าวและช่องทางการนำเสนอข่าว ซึ่งหลายครั้งเว็บไซต์ข่าวขาดการตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา โดย ดร.วรัชญ์ วิเคราะห์ได้ว่า อาจเป็นเพราะนักข่าวรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้ผ่านงานด้านสื่ออื่นๆที่เป็นสื่อดั้งเดิม ดังนั้น การถูกปลูกฝังด้านจริยธรรมอาจจะขาดไป ซึ่งให้ความสำคัญด้านการนำเสนอข่าวออนไลน์ที่เน้นจำนวนการเปิดอ่าน ยอดไลค์ ยอดแชร์ มากกว่าจริยธรรมและความรับผิดชอบต่อสังคม
ดร.วรัชญ์ ยังย้ำถึงจริยธรรมของสื่อมวลชน โดยระบุว่า จริยธรรมหลักที่สื่อมวลชนทั่วโลกควรมี ได้แก่ ความรับผิดชอบต่อข้อมูลที่ถูกต้องเป็นจริง ความเคารพในสิทธมนุษยชนของผู้ที่เกี่ยวข้องกับข่าว ความมีอิสระในการนำเสนอข่าวที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม และการตรวจสอบความผิดพลาดของคนในองค์กรข่าวด้วยกันเอง พร้อมแนะนำให้สื่อมวลชนด้านออนไลน์ นำเสนอข่าวโดยใช้จริยธรรม มากกว่าเน้นการทำข่าวเพื่อเรียกเรตติ้งหรืออันดับของเว็บไซต์ แต่สิ่งที่เหนือกว่าจริยธรรมคือสามัญสำนึกของแต่ผู้ทำข่าวเอง
ด้านคุณปกรณ์ สันติสุนทรกุล ผู้ร่วมก่อตั้งและเว็บมาสเตอร์เด็กดีดอทคอม ให้มุมมองว่าผู้อ่านที่เห็นข่าวที่เข้าข่ายละเมิดจริยธรรม มีทั้งคนชอบและไม่ชอบ โดยพฤติกรรมการอ่านข่าวเปลี่ยนไป รออ่านจากสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้ผลิตเว็บข่าวมุ่งโพสต์และแชร์ข่าวที่เป็นกระแส และสำนักข่าวก็เปลี่ยนวิธีการนำเสนอทำให้ได้ยอดชมมากขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งสำนักข่าวมาแข่งขันกับสื่อวาไรตี้มากขึ้น
“หากเว็บไซต์นำเสนอแต่ประเด็นที่ไม่เหมาะสมรุนแรง ในอนาคตก็อาจทำให้ผู้ลงโฆษณาเลือกที่จะลงโฆษณาเฉพาะเว็บไซต์ที่เสนอเนื้อหาที่มีคุณภาพเท่านั้น และจะทำให้คนทำสิ่งที่ไม่ถูกต้องอาจจะไม่มีที่ยืน” คุณปกรณ์ สรุปทิ้งท้าย
คุณศิวัตร เชาวรีย์วงศ์ นายกสมาคมโฆษณาดิจิทัลประเทศไทย อธิบายว่า ปัจจุบันผู้ลงโฆษณาแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มแรกคือกลุ่มที่คาดหวังให้แบนเนอร์โฆษณาถูกคลิกเพื่อไปทำกิจกรรมทางการตลาดต่อ ได้แก่กลุ่มโฆษณารายย่อย ยาลดน้ำหนัก ขายตรง ฯลฯ กลุ่มนี้จะลงโฆษณากับเว็บไซต์ที่มียอดผู้เข้าชมสูง ส่วนกลุ่มที่สองจะลงโฆษณาเพื่อเน้นสร้างแบรนด์ โดยกลุ่มนี้จะลงกับเว็บไซต์ที่มีคุณภาพและมีเนื้อหาสอดคล้องกับสินค้าของตนเอง ได้แก่ กลุ่มสินค้า #FMCG ซึ่งผู้ลงโฆษณาจะเป็นผู้เลือกเองว่าจะเลือกเว็บไซต์ที่เน้นจำนวนผู้เข้าชมหรือเน้นที่คุณภาพ“การได้เงินจากการทำผิดมันถูกต้องแล้วหรือ? ไม่ควรจะเอายอดโฆษณามาเป็นเหตุผลที่จะทำผิดเพื่อให้ได้เงิน โดยส่วนตัวเชื่อว่าเว็บไซต์ที่อดทนผลิตเนื้อหาที่มีคุณภาพ จะทำให้ผู้ลงโฆษณาเลือกคุณ คุณจะยอมโดนบีบจาก#facebook เพื่อเอา #rank ขึ้น เพิ่อแลกกับคุณภาพเนื้อหาหรือไม่ ท่านจะเป็นกลุ่มไหน ช่วงแรกคุณอาจจะได้เงินโฆษณาจาก agency เพราะอาจจะไม่ได้ดูคุณภาพเนื้อหาของคุณหรือดูแต่ rank เมื่อมีเสียงสะท้อนว่าคุณภาพของคุณลดลง ผู้ลงโฆษณาก็จะไม่เลือกคุณ” คุณศิวัตร กล่าว
คุณวริษฐ์ ลิ้มทองกุล ผู้อำนวยการเว็บไซต์ manager.co.th วิเคราะห์ว่าจุดเปลี่ยนของประเด็นเรื่องจริยธรรม-ความเป็นมืออาชีพ เริ่มจากกรณีข่าวที่เด็กถูกข่มขืนในรถไฟแล้วมีการอ่านและมียอดชมสูง ทำให้เกิดพฤติกรรมการเสนอข่าวแบบนี้อย่างแพร่หลาย ดังนั้นถึงเวลาที่พวกเราต้องพิจารณาหรือให้สมดุลการเสนอคนควรรู้-คนอยากรู้ และอะไรคือข่าวและไม่ใช่ข่าว นอกจากนี้ เราต้องทบทวนเรื่อง Constructive journalist ให้สังคมเห็นว่าคุณภาพสำนักข่าวอยู่ทีไหน สุดท้ายคุณวิริษฐ์ ยังให้แง่คิดว่า “แมลงวันต้องตอมแมลงวัน” เราควรจะตรวจสอบกันเองที่ไม่ควร เน้น rank และ rate โดยไม่มองจริยธรรม ความไม่เป็นมืออาชีพ #media #ethics #contentisking #sonp